เรามักได้ยินหัวข้อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยสร้างทีมเวิร์ก (Team Building) ในองค์กรอยู่บ่อยครั้ง และองค์ประกอบที่จะนำพาทีมไปสู่ความสำเร็จนั้นก็มีหลายปัจจัย โดยผู้บริหารที่ดีต้องมีแนวทางการสร้างทีมที่ชัดเจน โน้มน้าวและกระตุ้นให้ลูกทีมเห็นความสำคัญของการสร้างทีมมากกว่าเอาแต่พูดว่า ทีมที่ดีสร้างผลประกอบการให้ออฟฟิศมากมายแค่ไหน แต่ต้องให้เขาเข้าใจด้วยว่า เมื่อทีมเกิดขึ้นแล้วมันดีกับพวกเขาหรือไม่
และนี่คือเทคนิคการสร้างทีมที่ ซูซาน เอ็ม. ฮีธฟิลด์ กูรูด้านทรัพยากรบุคคล กล่าวไว้ใน About.com Human Resources ว่าการไปสู่ทีมที่ดีนั้นต้องมีอะไรบ้าง
มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน : ผู้นำที่มีความชัดเจนจะสามารถสื่อสารและแสดงออกถึงความคาดหวังของทีม บอกได้ว่าทำไมเราต้องสร้างทีมเวิร์ก มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในเป้าหมายและสนับสนุนให้ทีมเกิดขึ้นให้ได้
การมอบหมายงานให้กับสมาชิกในทีม : สมาชิกทีมต้องเข้าร่วมในทีม รู้สึกถึงพันธกิจสำคัญคือ มองว่าการทำงานของพวกเขามีคุณค่าในสายงานที่ทำ เพราะพนักงานทุกระดับมุ่งหวังที่จะได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา ดังนั้นหัวหน้างานต้องแสดงให้เห็นว่าทักษะการทำงานของพวกเขาสามารถพัฒนาทีมได้ และทำให้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่มีงานที่ท้าทายความสามารถเข้ามา
ความสามารถของทีม : นอกจากต้องตระหนักถึงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นภาพใหญ่แล้วสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ ความสามารถของคนในทีมที่เหมาะสมกับงาน ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และความสามารถในการแก้ไขปัญหา การคัดเลือกคนที่เหมาะกับงานเข้าร่วมทีมเป็นสิ่งสำคัญกว่าการเลือกคนเก่งๆ มารวมตัวกัน เพราะในทีมจะต้องมีทั้งผู้นำ ผู้ตาม นักคิด และนักปฏิบัติ ซึ่งเหมาะกับแต่ละงานแตกต่างกันไป
การร่วมมือกัน : ลูกทีมแต่ละทีมจะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม เข้าใจว่าการทำงานร่วมกันก็ต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่ทีมทั้งหมดจะต้องเข้าใจกฎและหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง แล้วหัวหน้าทีมล่ะ? หัวหน้าทีมมีหน้าที่จับตาดูปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและนำปัญหานั้นมาแก้ไข ประเมินงานร่วมกัน และช่วยกันตัดสินใจเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
ความคิดสร้างสรรค์ : ถ้าองค์กรของคุณต้องการความเปลี่ยนแปลง การนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมาจากความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มีรางวัลสำหรับนักพัฒนานวัตกรรมหรือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นสร้างให้อีกหลายๆ คนเป็นนักคิดอาจจะด้วยการฝึกอบรม หรือให้เขาได้เปิดหูเปิดตา ให้เข้าถึงหนังสือหรือภาพยนตร์ใหม่ๆ
ความพร้อมเพรียงกัน : ทีมจะมีความพร้อมเพรียงกันได้จะต้องมีศูนย์กลางอำนาจหรือมีผู้นำกลุ่มที่ดี เพื่อนร่วมทีมเข้าใจกระบวนการทำงาน ตลอดทั้งเข้าใจความต้องการของลูกค้า ดังนั้นหากมีคำถามจากลูกค้ามาในคำถามเดียว ทุกคนจะสามารถอธิบายและชี้แจงรายละเอียดได้ เมื่อทำได้เช่นนี้เราก็จะก้าวผ่านคำว่าล้าสมัยได้อย่างง่ายดาย
พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง : ทุกองค์กรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะต้องปรับตัวให้เท่าทันยุคสมัย ดังนั้นเราจะไม่สามารถอยู่กับที่หรือสังกัดทีมเดียวได้ตลอดเวลา เราอาจจะมีหัวหน้าใหม่ หรืออาจจะต้องไปเป็นหัวหน้าใหม่ของใครวันไหนก็ได้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์นี้คือ ลูกทีมจะต้องมีภูมิต้านทาน พร้อมรับนายใหม่ หรือสามารถก้าวไปเป็นผู้นำทีมได้ตลอดเวลา
สำหรับผู้นำแล้วสิ่งสำคัญที่จะประเมินว่าคุณประสบความสำเร็จหรือไม่ก็คือ ลูกทีมของคุณจะต้องรักคุณ ธุรกิจอาจทะยานสู่ความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากคนภายนอก แต่หากขาดการยอมรับจากคนในทีมแล้วก็ไร้ความหมาย
ที่มา:
http://www.manpowerthailand.com/tris/content/detail/673-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81-%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89