ผู้เขียน หัวข้อ: มารยาทในการสัมภาษณ์งาน  (อ่าน 955 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Master

  • [color=Turquoise][i]"อาจจะเหนื่อยล้าและมีผิดหวัง แต่ยังมีพรุ่งนี้ให้เราได้เริ่มกันใหม่ ทุกชีวิตที่อยู่ในเมืองนี้ สักวันก็คงได้สมดังใจ ... "[/i][/color]
  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 487
  • พอยท์: 0
    • ดูรายละเอียด
มารยาทในการสัมภาษณ์งาน
« เมื่อ: 13 พฤศจิกายน 2016, 02:51:29 »
 การสมัครงานแต่ละครั้งผู้สมัครงานต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดี โดยระลึกไว้เสมอว่าในการคัดเลือกนั้น กรรมการไม่ได้ตัดสินคุณเพียงแค่ในห้องสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว หากแต่เริ่มพิจารณาตั้งแต่คุณเริ่มส่งใบสมัคร จนมีการพูดคุยทางโทรศัพท์ และการมาสัมภาษณ์งานที่บริษัท ฉะนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้งานตามที่หวัง ผู้สมัครงานต้องเตรียมตัวให้พร้อมและให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนของการสมัคร งาน ทั้งก่อนการสัมภาษณ์ ระหว่างการสัมภาษณ์ และหลังการสัมภาษณ์งาน


 ก่อนการสัมภาษณ์
 - ควรมีการเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อม โดยอาจมีการฝึกฝนทักษะการนำเสนอ เพื่อให้พร้อมกับการสัมภาษณ์ทุกรูปแบบ ทั้งการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว หรือแบบกลุ่ม ผู้สมัครควรเตรียมข้อมูลประวัติส่วนตัว, ประสบการณ์ทำงาน, คุณสมบัติและทักษะความสามารถต่างๆ และความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ผ่านมา พร้อมทั้งเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วนตามที่ระบุไว้
 - ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรและตำแหน่งงาน ทั้งจากทางเว็บไซต์ของบริษัท ทางอินเตอร์เน็ต หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นของบริษัท ทั้งความเป็นมา สถานที่ตั้ง สภาพปัจจุบัน จนถึงบริษัทคู่แข่ง และที่สำคัญที่สุดคือรายละเอียดของตำแหน่งงานที่เราต้องการสมัคร เพราะจะแสดงให้เห็นถึงความกะตือรือร้นในการสมัครงาน และมีความสนใจในองค์กรและตำแหน่งงานอย่างจริงจัง
 - ภาพลักษณ์และบุคลิกภาพเป็นสิ่งความสำคัญ ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับองค์กรหรือตำแหน่งงานนั้นๆ ซึ่งอาจลองสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ โดยผู้สมัครงานควรให้ความสำคัญกับทรงผม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า ตลอดจนกลิ่นปาก กลิ่นตัว ที่สำคัญควรระวังกลิ่นของน้ำหอมที่ใช้ไม่ให้มีกลิ่นฉุนจนเกินไป รวมถึงใส่ใจในการเลือกใช้เครื่องสำอางหรือเครื่องประดับ
 - ควรวางแผนการเดินทาง ศึกษาเส้นทางให้เข้าใจ และพยายามมาให้ถึงก่อนเวลานัดหมาย เพื่อให้มีเวลาเหลือสำหรับการเตรียมตัว จัดระเบียบเครื่องแต่งกาย ทำสมาธิก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์ และทางที่ดีควรทราบข้อมูลผู้ติดต่อประสานงาน เช่น  ชื่อ ตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์ สำหรับติดต่อกรณีฉุกเฉินที่ผู้สมัครจำเป็นต้องไปสายจริงๆ แต่หากเป็นไปได้พยายามอย่าไปสาย
 -ปิดเสียงโทรศัพท์ หรือหากเป็นไปได้ควรปิดเครื่องโทรศัพท์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจรบกวนการสัมภาษณ์


 ระหว่างการสัมภาษณ์
 -ควรเริ่มต้นด้วยการทักทายตามธรรมเนียม ด้วยท่าทางสุภาพ ยิ้มแย้ม หากเป็นไปได้ขอทราบชื่อผู้สัมภาษณ์ เพื่อเป็นการให้เกียรติ และสร้างความประทับใจแรกพบ
 -การพูด พูดด้วยน้ำเสียงชัดเจน มีความมั่นใจ พูดให้เป็นธรรมชาติ ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป ควรพูดแนะนำตัวให้ฟังดูน่าสนใจ การเตรียมข้อมูลส่วนตัวก่อนการมาสัมภาษณ์จะมีประโยชน์กับเราในตอนนี้ ควรเลือกใช้สรรพนามแทนตัวเองหรือแทนผู้สัมภาษณ์อย่างเหมาะสม การฟังควรฟังอย่างตั้งใจ มีสมาธิ ไม่พูดแทรกหรือขัดจังหวะผู้สัมภาษณ์ หากฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจคำถาม ควรขออนุญาตก่อนให้มีการทวนคำถาม ในการตอบคำถาม ควรตอบตรงประเด็น มีความกระชับ โดยอาจใช้เวลาในการรวบรวมความคิดก่อนตอบได้บ้าง ควรให้ข้อมูลตามความเป็นจริง
 -การแสดงออกทางกายหรือภาษากาย ควรวางตัวให้สุภาพ สำรวม ทั้งท่าทางในการนั่ง การลุก หรือการเดิน ก่อนจะลุกหรือนั่งควรรอคำเชิญหรือขออนุญาตก่อน ควรปรับเก้าอี้หรือที่นั่งให้ได้ระยะหรือองศาที่เหมาะสม ระหว่างสัมภาษณ์ไม่ควรวางหรือเท้าแขนบนโต๊ะ ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง นั่งเขย่าขา หรือหมุนเก้าอี้ไปมา และระหว่างสัมภาษณ์ควรสบตาผู้ให้สัมภาษณ์
 - หากรู้สึกประหม่าหรือตื่นเต้น อย่าแสดงออกมากจนเกินไป พยายามข่มความตื่นเต้นเอาไว้ ทำใจให้สบาย สูดลมหายใจลึกๆ พยายามสบตาผู้สัมภาษณ์และพูดจาด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจให้ได้โดยเร็ว
 - การให้เกียรติเป็นสิ่งสำคัญ การให้เกียรติในที่นี้คือให้เกียรติผู้ให้สัมภาษณ์ รวมไปถึงให้เกียรติบริษัทเก่า กล่าวคือพยายามไม่พูดจาให้ร้ายองค์กรเดิมหรือเจ้านายเก่า โดยพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงในทางลบ และห้ามนำข้อเสียมาพูดเด็ดขาด
 - การควบคุมอารมณ์ บางครั้งผู้สัมภาษณ์อาจมีการใช้คำถามเชิงจิตวิทยา หรือคำถามเชิงยั่วยุเพื่อทดสอบสภาพจิตใจ พยายามรับมือให้ได้ โดยพยายามแสดงให้เห็นถึงการมีวุฒิภาวะ มีความอดทนอดกลั้น มีทักษะสำหรับรับมือกับแรงกดดัน และมีความฉลาดทางอารมณ์
 - หากมีการเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัย คำถามจะต้องอยู่ในเนื้อหาของงานหรือข้อมูลองค์กร ควรตั้งคำถามที่ดี มีมารยาท ไม่ควรถามข้อมูลส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์


 หลังการสัมภาษณ์
 -กล่าวคำขอบคุณผู้สัมภาษณ์ ที่ให้เกียรติและเชิญมาสัมภาษณ์ ย้ำและแสดงให้เห็นถึงความสนใจในตำแหน่งงานนั้นๆ อีกครั้ง และควรไม่ลืมที่จะถามถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากการสัมภาษณ์
 -จดบันทึกรายละเอียดคำถามที่ถูกสัมภาษณ์ เพราะอาจเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัว เพื่อการสัมภาษณ์รอบต่อไปในองค์กรนั้นๆ (กรณีผ่านการสัมภาษณ์รอบแรก)
 -เตรียมพร้อมสำหรับการถูกปฏิเสธ โดยยอมรับสภาพการแข่งขัน ผู้สมัครทุกคนมีโอกาส แต่ทุกองค์กรล้วนต้องการคนที่ “เหมาะสมที่สุด” หากผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นตามที่เราคาดหวัง ควรมีการเผื่อใจไว้ ให้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและนำปรับปรุงสำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งต่อๆไป


ที่มา: http://www.manpowerthailand.com/tris/content/detail/148-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99