ก่อนหน้านี้คำถามพวกนี้เป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวผมอยู่เสมอๆ เพราะผมสนใจใน Startup มาก แต่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ได้ลองทำของตัวเองจริงๆจังๆ เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งหลังจากได้ลองเข้าไปใน Startup Weekends แล้ว มันก็ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่อง Startup มากยิ่งขึ้นเหมือนได้ลองทำเองจริงในเวลา 3 วัน 2 คืน
Startup Weekends คืออะไร?เป็นงานที่คนกว่าครึ่งร้อยมารวมตัวกันเพื่อสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริง ของการสร้าง Startup ผ่านการสร้าง Product จำลอง หรือที่เรียกว่า MVP (Minimum Viable Product) ซึ่งแต่ละคนจะเข้ามาด้วยตำแหน่งต่างๆกันตามตำรา Startup คือมี Business, Designer, Developer และ Domain Expert
สำหรับงานที่ผมไปร่วมมานี้เป็น
Education Edition ซึ่งจะเน้นตีมธุรกิจสายการศึกษา Domain Expert เลยจะเป็น Educator หรือบุคลากรที่คลุกคลีในวงการศึกษาทั้งหลาย ซึ่งแต่ละคนจะมารวมทีมกันตามความสนใจตนเอง
ทีมที่มีความสมดุลของแต่ละตำแหน่งมากกว่าก็มีความได้เปรียบกว่า ระหว่าง 3 วัน 2 คืน แต่ละคนในทีมก็ต้องเค้นความสามารถของตนเองที่มีมาช่วยกันสร้าง Startup (จะนอนหรือไม่นอนก็แล้วแต่เลย แต่ผมนอนนะ เดี๋ยวไม่มีแรง ฮ่าๆ) แล้วเย็นวันสุดท้ายก็จะมานำเสนอผลงานตัวเองกัน โดยกรรมการจะตัดสินตาม 3 เงื่อนไขคือ Validation, Execution & Design และ Business Model
แต่ละทีมจะมีโต๊ะของตัวเอง มี Post-it และ Business Model Canvas ให้พร้อม
ในรอบนี้ที่ผมว่านี่มีชาวต่างชาติจากหลายชาติเลย ถ้านับประเทศนี่น่าจะประมาณ 10 ประเทศได้ ถ้าทีมไหนมีชาวต่างชาติเยอะหน่อย ก็คงไม่ได้พูดภาษาไทยเลย ซึ่งเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของงานเช่นกัน
ก็เลยอยากจะมาเล่า “
7 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานนี้” จากมุมมองของผม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาพงานทั้งหมด แต่ก็น่าจะทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าไปแล้วจะได้อะไร<blockquote>
1. It’s about the Team not only the Idea </blockquote> จะพูดว่าการเลือกทีมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของงานนี้ก็ไม่ผิด เพราะบางทีไอเดียธรรมดาๆ ก็กลายเป็นธุรกิจที่เจ๋งได้ ถ้ามีทีมที่เจ๋งพอ มีความสามารถลงตัว และยังทำให้เราได้เรียนรู้จากคนในทีมอีกด้วย
ซึ่งในงานวันแรกในเย็นวันศุกร์หลังจากที่ Ice breaking แล้วก็จะมีช่วงให้คนที่มีไอเดียมา Pitch หรือนำเสนอไอเดียเพื่อหาคนรวมทีม ก่อนจะให้คนรวมกันโหวตด้วย Sticky note ให้เหลือ 10 ไอเดีย
ทุกคนจะมี Post-it 3 แผ่นไว้สำหรับโหวตไอเดีย
ส่วนผมก็ไป pitch แต่ว่าได้โหวตไม่ติด 10 อันดับ T^T เลยต้องไปหาทีมอื่น ซึ่งเดินเลือกอยู่นาน เพราะรู้สึกไอเดียยังไม่โดน สุดท้ายเลยไปเลือกทีมที่ไอเดียกลางๆ แต่รู้สึกถูกชะตากับคนในทีม ซึ่งไอเดียของทีมนี้ชื่อว่า CoStudy ซึ่งอยากจะทำแอพพลิเคชันที่ช่วยนักเรียนนักศึกษาที่หาที่ติวหนังสือโดยให้ Apartment ที่มีที่ว่างมาลิสต์ห้องเอาไว้
จากตอนแรกที่ไอเดียธรรมดาๆ พอเริ่มได้คุยได้ปรึกษา ก็ทำให้หลายๆ อย่างมันเริ่มลงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความลงตัวของทีม ซึ่งมี 6 คน สมัครมาในฐานะ Marketing 3 คน และ Developer 3 คน ถึงตอนแรกจะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยลงตัวเลย แต่เอาเข้าจริงแต่ละคนก็มีความ สามารถหลากหลาย เช่น การเงิน กลยุทธ์ การออกแบบ ทำให้สุดท้ายแล้วทีมค่อนข้างลงตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ทำให้คนๆ หนึ่งต้องทำหลายอย่างหน่อย และอาจจะไม่ได้ทำในหน้าที่ตัวเองเป๊ะๆ เช่น ผมเองที่สมัครเป็น Developer ก็ต้องแปลงร่างไปเป็น UX Designer เพราะเป็นสิ่งที่ทีมขาด (โชคดีที่พอทำเป็น)
คำแนะนำการสร้างทีมจากทีมงาน Startup Weekend
ซึ่งผลสุดท้ายแล้ว ผมก็รู้สึกว่าโชคดีมากที่เลือกทีมนี้ เพราะทุกคนได้ช่วยกันสร้าง Startup เจ๋งๆ ขึ้นมาได้จากไอเดียธรรมดาๆ แถมยังสนุกอีกด้วย และยังได้เรียนรู้จากคนในทีมมากมายเลย<blockquote>
2. Team should have single and clear vision </blockquote> สิ่งที่ผิดพลาดจากที่ผมเคยเข้าร่วมงานครั้งก่อน คือ การที่คนแต่ละคนในทีมไม่ได้มีภาพชัดตรงกันว่าเป้าหมายของทีมนั้นคืออะไร ทำให้แต่ละคนพยายามสร้างสิ่งที่ตัวเองอยากได้ และใช้เวลาไปกับการถกเถียงกันไปมากอยู่
ในครั้งนี้ ก็เลยต้องมีการพูดคุยเรื่องไอเดียและวางแผนให้ชัดเจน โดยหลังจากเราเริ่มได้ไอเดียคร่าวๆ ที่รู้สึกตื่นเต้นกับมันแล้ว เราก็มาลงมือเขียน
Lean Canvas ซึ่ง เป็นเหมือนแผนธุรกิจฉบับย่อ เพื่อปรับโฟกัสทุกคนให้ชัดเจนว่า เรากำลังแก้ไขปัญหาอะไร เรากำลังช่วยใคร วิธีการของเราคืออะไร อะไรคือคุณค่าหลักๆ ที่เราจะสร้างให้ผู้ใช้
การมีภาพที่ชัดเจน ทำให้ทุกคนมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน และไม่มัวแต่เสียเวลาทำในสิ่งที่อาจจะไม่ถูกต้อง
คุณ Paul อธิบายถึง Business Model Canvas ที่ใช้ในการทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้ดีขึ้น
<blockquote>
3. Mentors make you learn faster </blockquote> ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของงานนี้คือ เค้าจะไปสรรหา Mentors ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาอยู่ในงานให้เราจองตัวเพื่อคุยกับเค้าได้เลย มีตั้งแต่ การศึกษา ธุรกิจ การตลาด การออกแบบ user experience และ development
ในตอนแรกที่ไอเดียยังไม่ค่อยตกตะกอน เราก็จะ brainstorm ไปเรื่อยๆ ยังไม่มีภาพของธุรกิจที่ชัดๆ แต่พอได้คุยกับ mentor ก็จะได้คำแนะนำมากมาย เหมือนเค้าจะคอยชี้ทางว่าเราควรไปทางไหน จุดอ่อนของธุรกิจเราคืออะไร ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นหน้าที่ของคนในทีม ที่จะต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกอะไร
Mentor คุณ Jeff (เสื้อชมพู) กำลังให้คำแนะนำเรื่องไอเดียและ Business Model กับทีม
ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า Mentor มีส่วนช่วยมากๆ โดยเฉพาะในขั้นตอน execution (การลงมือทำ) อย่างการวาง Business Model, UX design และการทดสอบตลาด เพราะว่าสิ่งที่เรามักจะเป็นกันคือ…
มีไอเดีย แล้วยังไงต่อ?ที่ผมชอบที่สุดคือเรื่อง User Journey ซึ่งพี่ดารินได้มาช่วยให้คำแนะนำในการออกแบบ โดยวิธีการโดยคร่าวๆ คือเราต้องมองผู้ใช้ว่าเป็นใคร แล้วแบ่งขั้นตอนการใช้งานย่อยๆ ออกมาพร้อมกับนึกถึงเป้าหมายของขั้นตอนนั้น เช่น
- ขั้นตอน Discover
เป้าหมายของผู้ใช้คือค้นหาสถานที่อ่านหนังสือที่ตัวเองต้องการได้ตรงใจและรวดเร็วที่สุด - ขั้นตอน Booking
เป้าหมายของผู้ใช้คือสามารถดูข้อมูลสถานที่เพื่อการตัดสินในการจอง
ซึ่งเมื่อเราเอาเป้าหมายของผู้ใช้ เอามาประกอบกับปัญหาของเค้าที่เราตั้งสมมติฐานไว้มารวมกัน เราก็จะมีภาพที่ชัดเจนในการออกแบบ เช่น จากข้อ 1 ผู้ใช้ต้องการค้นหาสถานที่แต่เค้ามีปัญหาว่ามักจะไม่มีที่นั่ง ในการออกแบบเราก็ต้องเอา Filter จำนวนคนขึ้นก่อน เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจในการเลือกได้มากขึ้น<blockquote>
4. Get out of the building! </blockquote>
ปัญหาของผู้ใช้ที่เราคุยๆ กันอ่ะ มันมีจริงรึเปล่า? เค้าอาจจะแค่คันๆ ไม่ได้ถึงกับเจ็บก็ได้
อีกสิ่งสำคัญของการสร้าง Product คือ ความเข้าใจในลูกค้า การที่เราได้เข้าใจ Insight ปัญหา และความต้องการของผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ผู้ใช้สิ่งที่เรากำลังทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงาน Startup weekend ครั้งนี้ค่อนข้างเน้นย้ำพอตัว
สำหรับทีมของเราที่ทำ CoStudy Space ให้นักเรียนนักศึกษามาอ่านหนังสือ จึงตั้งข้อสมมติฐานว่า นักเรียนนักศึกษา รวมไปถึงติวเตอร์ น่าจะสนใจใช้บริการและจ่ายเงินให้กับบริการของเรา
เอาเข้าจริงๆ พอได้ออกลุยสัมภาษณ์คน สิ่งที่คิดไว้หลายๆ อย่างก็พัง O__o! เพราะเราไปคิดแทนให้เค้า เช่น ผมไปสัมภาษณ์ติวเตอร์ โดยคิดว่าเค้าน่าจะมีความลำบากในการหาที่สอนหนังสือที่ดีๆ
ตระเวนออกไปสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย ในบริเวณสยาม
ผม: “ทุกวันนี้ ตอนสอนตามห้าง ร้านกาแฟ รู้สึกมีปัญหามั้ย?”
ติวเตอร์: “ไม่นี่ครับ ก็โอเคดี”
ผม: “แล้วรู้สึกว่าความสะดวก เรื่องเสียง ความเป็นส่วนตัว โอเคมั้ยครับ?”
ติวเตอร์: “ก็โอเคดีครับ มีบ้างที่บางที่เสียงดังไปหน่อยสอนยาก แต่ก็แค่ย้ายที่”
ผม: (ดูไม่มีปัญหาเลยแฮะ คงไม่ต้องแก้แล้วมั้ง 555)
ติวเตอร์: “อ้อ ถ้าสอนคนสองคนสบายนะ มันจะมีปัญหาตรงที่คนเยอะ จะเริ่มสอนยากละ หาที่สอนไม่ค่อยได้ เพราะควรจะมีกระดาน อุปกรณ์ และอยากได้ห้องส่วนตัว”
ผม: (ยูเรก้า! ปัญหาตรงถ้ามีคนเยอะ และขาดอุปกรณ์นี่เอง)
และยังมีบทสนทนาอีกมากมาย ที่ตรงกับที่คาด และไม่ตรงกับที่คาด เมื่อได้คุยเราก็ได้ Insight ขึ้นมากมาย ได้เข้าใจปัญหาและความต้องการมากขึ้น อาจจะยากตรงต้องแยกให้ออกว่าอันไหน Need หรือแค่ Want แล้วเอามาพัฒนาปรับปรุง Product ของเรา สรุปคือการได้คุยกับกลุ่มคนที่น่าจะเป็นลูกค้ามันดีจริงๆ นะเออ<blockquote>
5. Focus on building MVP not a perfect product </blockquote> เพราะเราไม่ได้มีเวลาและเงินมหาศาลที่จะมามัวแต่สร้างสิ่งที่คนไม่ต้อง การ เราเลยต้องสร้าง MVP (Minimal Viable Product) หรือ Product ที่มี Feature น้อยมากๆ เท่าที่จะจำเป็นในการทดสอบตลาดว่าคนต้องการหรือไม่ มันขายได้หรือไม่ ทำให้เราประหยัดทรัพยากรลงไปมาก ถ้าเราพลาดไปทำสิ่งที่ผิด
การเข้ามาใน Startup Weekend ที่มีเวลาจำกัดมากๆ ทำให้เราต้องพยายามสร้างแต่ส่วนที่สำคัญที่จะทดสอบความต้องการผู้ใช้ได้ ถ้าเรามัวแต่ไปนั่งทำ Facebook Login หน้า Sign in หรือ Log out หรือมัวแต่ติดตั้ง Database คงจะหมด 3 วันพอดี
การใช้ Wireframe ทำให้เราสร้างและแก้ไข Prototype ได้ง่ายและรวดเร็ว คุยกันเข้าใจขึ้น (ในรูป ผมใช้ Sketch ครับ)
ในตอนแรกทีมเราก็ฟุ้งถึง Feature มากมาย แต่สุดท้ายเมื่อเรากลับมาที่การพิสูจน์สมมติฐานว่าลูกค้าจะยอมจ่าย เงินเพื่อใช้บริการเรารึเปล่า เราก็จะเริ่มเห็นชัดเลยว่า Feature บางอย่าง เช่น หน้า Check-in เมื่อเข้าใช้บริการอาจจะไม่สำคัญเลย เพราะมันไม่ได้ทำให้ผู้ใช้เห็นภาพมากขึ้นว่าเค้าอยากใช้ของเราจริงมั้ย
ในอีกมุมหนึ่งคือการตัด Feature ทิ้งให้หมด ให้เหลือแต่ส่วนสำคัญๆ แต่ทำให้มันดีไปเลย แล้วนำไปให้ผู้ใช้ทดลอง และรับ feedback กลับมาพัฒนาต่อ สำหรับคนที่สนใจสามารถอ่านต่อได้ที่เรื่อง
Lean Startup ที่ทาง Thumbsup เขียนไว้ได้ครับ
การทำทีละหน่อย รับ Feedback แล้วค่อยๆเพิ่มหรือ Iterate นั้นช่วยได้มาก เพราะถ้าเราคุยและออกแบบกันด้วยกระดาษ ถ้าจะเปลี่ยนมันก็ง่าย แต่ถ้าคุยกันเสร็จ ลงมือพัฒนาโปรแกรมเลย พอจะเปลี่ยนก็ปวดหัวละ เพราะต้องลงแรงเพื่อเปลี่ยนเยอะ ซึ่งโดยสรุปวิธีการของทีมผมในฝั่ง Development ตามลำดับคือ
- Idea
- Business Model Canvas
- User Journey
- Paper Wireframe
- Sketch Wireframe
- Mobile Web Prototype (มีแต่ Frontend)
<blockquote>
6. Product is the product of great team </blockquote> สิ่งที่ผมชอบที่สุดอย่างหนึ่งในงานนี้คือ การได้เรียนรู้เรื่อง teamwork เราจะได้โอกาสเข้าไปเจอความหลากหลายของสายงาน จากที่ปกติเราทำงานกับแต่คนคณะเดียวกัน สายงานหรือแผนกเดียวกัน
เราจะได้เห็นเลยว่าเราทำงานกับคนในทีมได้ดีหรือไม่ แต่ละคนที่มาจากต่างสายก็มักจะมีความเห็นต่างกัน ซึ่งเราก็ต้องพยายามเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน นับว่าได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมเยอะจริงๆ
“Ownership is empowerment”เป็นคำแนะนำจากเอกสารของ Startup weekend และเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับการทำงานเป็นทีมที่แต่ละคนจะรู้หน้าที่ของตัวเอง และทำสิ่งที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด
ซึ่งในตลอดระยะเวลา 3 วัน ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะแยกย้ายกันทำตามหน้าที่ตัวเอง โดยทีม Marketing จะเน้นไปคิดเรื่องการตลาดและ Business Model ส่วนทีม Development ก็จะออกแบบและพัฒนา Product ซึ่งบางครั้งก็เข้าใจไม่ตรงกัน ทำกันไปคนละทาง
พอตกลงหน้าที่ได้แล้ว และ ฝั่ง Development และ Business ก็แยกย้ายกันทำงาน
ผม: “นี่ฝั่ง Dev เราทำหน้า Check-in, Check-out
เสร็จแล้วนะ พอ Check out มันจะแสดงเวลา แล้วให้ผู้ใช้จ่ายเงินนะ”
Marketing: “ไม่ได้นะ เราต้องให้ผู้ใช้จ่ายเงินก่อน ไม่งั้นการจัดการมันจะยากมากๆ”
ผม: (พลาดละ น่าจะคุยกันก่อน – -“)
ซึ่งเรื่องแบบนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าคนในทีมไม่ค่อยได้คุยกัน ทีมของเราก็เลยต้องพยายามเดินไปคุยความคืบหน้า และมีการประชุม Check point เพื่อปรึกษาหารือกันเรื่อยๆ และการวาด Wireframe ก็ช่วยได้มาก เพราะถ้าเราคิดแล้วลงมือทำเลยแล้วพลาดมันเสียเวลาไปมาก เทียบกับการออกแบบร่างมาคุยกันก่อนจะลงมือทำจริง จะช่วยลดโอกาสที่จะทำสิ่งที่ผิดออกมาได้
การหาคนร่วมทีมที่เข้ากันได้นั้นสำคัญมาก อย่างที่มีคนสองคนที่อยากจะสร้างบริษัทด้วยกัน ถึงกับตกลงกันมาเข้าร่วมงาน Startup Weekend เพื่อมาลองทำงานด้วยกันก่อน ซึ่งจะเรียกว่ามาดูใจกันก็ไม่ผิด ฮ่าๆ<blockquote>
7. People love story </blockquote>
“คนเรานั้นมักจะชอบฟังเรื่องเล่ามากกว่าอะไรที่มันเป็นข้อมูลสาระจริงจัง”เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมได้เรียนรู้มาจาก Startup Weekend ในวันแรกที่ Pitch ไอเดียกัน และวันสุดท้ายที่ทุกทีมต้องมานำเสนอผลงาน โดยทางงานจะให้เวลา 5 นาทีนำเสนอ 3 นาทีถามตอบ และจะมีกรรมการเป็นผู้ถามและตัดสิน
ในการนำเสนอ จะเห็นได้ว่าบางทีมจะใส่ใจกับการเล่าเรื่อง และบางทีมจะใส่ใจกับข้อมูล ซึ่งผลลัพธ์อาจจะออกมาต่างกันได้ ในการนำเสนอวันสุดท้าย มีทีมหนึ่งชื่อ Lecture Dealer ซึ่งสามารถเล่าเรื่องได้ดีมาก เค้ามีการยกตัวอย่างตัวละครสมมติเพื่อให้คนเห็นภาพของปัญหาที่มี แถมยังทำได้ฮามากๆ ทำให้ได้ใจคนดู และทำให้คนจดจำได้
“รูปผมเองสมัยก่อน ทั้งเตี้ยและอ้วน ทำอะไรก็ไม่ดี แต่อย่างนึงที่ทำได้ดีคือ Lecture ผมสวยงามมาก! และข้างล่างคือสุดา สาวสวย เซ็กซี่ แต่ขี้เกียจ ซึ่งชอบยืม Lecture ของผมฟรีๆ ตลอดเวลา”
และอีกอย่างหนึ่งการเล่าถึงปัญหาที่ทำให้กรรมการหรือผู้ชมอินนั้นนั้น สำคัญมากๆ เพราะถ้าเค้าไม่อินปัญหา วิธีแก้จะสวยหรูแค่ไหนก็เท่านั้นเอง ซึ่งบางทีมใน Startup weekend ก็ใช้เวลาเกือบครึ่งเพื่ออธิบายถึงปัญหาที่เค้าพยายามจะแก้
ทีม CoStudy กำลังเล่าถึงความลำบากในการหาที่ติวและอ่านหนังสือ
ทีม GoScore เล่าถึงปัญหาของแบบทดสอบการเรียนของนักเรียน
โดยสรุปแล้ว สิ่งหลักๆที่ได้จากงานคือ
- เพื่อนใหม่ ได้รู้จักคนจากหลากหลายด้านมากขึ้น ได้รู้จักพูดคุย และเรียนรู้จากคนที่เก่งๆ
- การทำงานเป็นทีม ซึ่งอาจจะไม่บ่อยนักที่เราได้มีโอกาสรวมตัวกับคนที่เพิ่งรู้จักและทำงานด้วยกันทั้งวันทั้งคืน 3 วันรวด
- รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้เห็นชัดขึ้นว่าการทำ Startup ต้องมี Skill อะไรบ้าง เราถนัดและไม่ถนัดอะไร และที่สำคัญคือได้รู้ว่าเรายังขาดอะไรบ้าง ที่เราต้องไปสรรหามาเรียนรู้อีก
- วิธีการสร้าง Startup ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่เราก็ได้คร่าวๆ ของการเริ่มจาก 0 ตั้งแต่ไอเดีย จนเป็น MVP เอาไปให้ผุ้ใช้ลอง หรือนำเสนอนักลงทุนได้
- แรงบันดาลใจ การมางานนี้ทำให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ ได้พูดคุย ลองทำงานกับคนใหม่ๆ ซึ่งแต่ละคนล้วนมีไฟในการสร้าง Startup (ไม่อย่างนั้นเค้าคงไม่มาเนอะ) ทำให้เรารู้สึกได้แรงบันดาลใจ อยากจะเรียนรู้และสร้างอะไรดีๆ ให้กับสังคมมากขึ้นอีก
สำหรับงานนี้ก็เป็นงานที่ผมเข้าร่วมแล้วรู้สึกว่าคุ้มค่าและสนุก มากๆ ขอขอบคุณทีมงานที่จัดงานดีๆ อย่างนี้ให้นะครับ สิ่งที่คิดว่าโดดเด่นมากอย่างหนึ่งของงานครั้งนี้คือเรื่องสถานที่ที่ Toyota เพราะสถานที่ค่อนข้างกว้างและบรรยากาศดี อีกทั้งยังอยู่ที่สยามทำให้เดินทางมาง่ายมาก นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์กลางของเด็กนักเรียนนักศึกษา ทำให้ง่ายต่อการออกไปสัมภาษณ์ ติดนิดหน่อยตรงเรื่องที่มันปิดเร็วไปหน่อย ทำให้ต้องไปหาที่ทำงานที่อื่นต่อ แต่โดยรวมถือว่าดี
แล้วก็ขอขอบคุณคนที่ร่วมทีมทุกคนที่ทำให้ การแข่งครั้งนี้ผมได้เรียนรู้และสนุกมากๆ
ที่มา:
http://www.designil.com/startup-weekend-education.html