หลายคนเข้าใจว่าอยากทำงานให้ดีต้องขยัน แต่พอทำงานเยอะ ๆ เข้าก็จะเริ่มพบว่างานนึงที่เราใช้เวลาทำ 40 ชั่วโมง จริง ๆ แล้วอาจจะใช้เวลาทำแค่ 10 ชั่วโมงก็ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” ครับ
การเป็น “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานออกมาไม่มีคุณภาพ แน่นอนว่าดีไซเนอร์ทุกคนอยากทำงานตัวเองให้ออกมาดี คุณ
Joshua Johnson จาก Creative Market ก็เช่นกัน แต่เค้าค้นหาวิธีต่าง ๆ ที่จะใช้เวลาทำงานให้น้อยลง เพื่อจะได้มีเวลาสนุกกับชีวิต หาไอเดียใหม่ ๆ ให้มากขึ้น
นี่คือ 7 เทคนิคที่ “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” เรียนรู้มาในการทำงานให้เร็วขึ้น และคุณสามารถเอาไปปรับใช้ในงานได้ตั้งแต่วันนี้เลย!
1. กราฟฟิกจากเน็ตใช้ได้ ไม่บาป งานออกแบบที่ดีไม่จำเป็นต้องวาดเอง ตัดต่อเองทุกอย่างเสมอไป (ไม่งั้นเราคงต้องทำฟ้อนต์ใช้เองแล้ว) การใช้กราฟฟิกที่ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ตแบบลิขสิทธิ์ถูกต้อง เช่น Creative Market, Graphic River หรือกราฟฟิกที่เจ้าของแจกฟรี เช่น จากเว็บไซต์ Freebiesbug, Pixelbuddha เป็นสิ่งที่ “ดีไซน์เนอร์ขี้เกียจ” ควรทำอย่างยิ่ง
เพราะนอกจากงานลูกค้าจะเสร็จไวขึ้นแล้ว เรายังสามารถโฟกัสงานให้ภาพรวมออกมาดี แทนที่จะมาปวดหัวกับการนั่งดัดเส้น Vector ของส่วนเล็ก ๆ ในงาน
2. ความแปลกใหม่ ไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป ความแปลกใหม่ ความเป็นออริจินัล เป็นเรื่องดีครับ แต่เวลาเราทำงานกราฟฟิก / เว็บไซต์ให้ลูกค้า เราไม่ได้มีหน้าที่หา “ความแปลกใหม่” แต่หน้าที่ของเราคือ
“หาสิ่งที่เหมาะสมกับลูกค้า” ต่างหากครับ
การใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยออกแบบ เช่น
Bootstrap จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นมาก และให้สิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ ถึงแม้บางโปรเจคอาจจะต้องการอะไรแปลกใหม่ แต่โปรเจคอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต้องการความ Creative ขนาดนั้น จำไว้ว่าเราต้องหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้า แต่วิธีนั้นไม่ได้จำเป็นต้องมีความแปลกใหม่เสมอไป
3. งานเสร็จ ดีกว่างานเพอร์เฟ็กต์ เชื่อว่าคนเป็น Graphic / Web Designer หลาย ๆ คนเวลาดูกราฟฟิก / โฆษณาต่าง ๆ อาจจะคิดว่า “ทำไมไม่ขยับรูปไปอยู่มุมนั้น” “ทำไมไม่ใช้ฟ้อนต์ XXX แทน” งานดีไซน์เป็นงานที่สามารถปรับแก้ให้ดีขึ้นได้ตลอดเวลาครับ เพราะฉะนั้นถ้ามีเวลาให้ทำแบนเนอร์ 1 อัน 1 ปี เราคงนั่งแก้ไปแก้มาหน้าคอมเป็นร้อย ๆ รอบ (ยังดีว่าปกติเค้าให้เวลาไม่เกิน 2-3 วัน)
ลูกค้าไม่ได้ต้องการงานที่ Perfect ถ้ามันกินเวลาเยอะเกินไป เค้าต้องการงานที่ดี ที่เสร็จทันในกรอบเวลาที่เค้ากำหนด เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” อย่างเราก็คือทำให้ทัน Deadline ครับ ถ้าเราพยายามทำงานให้ Perfect กว่าจะเสร็จลูกค้าแก่ตายพอดี
4. อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ ถ้าอยากเป็น “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” ของแท้ ยิ่งต้องเรียนรู้ให้เยอะที่สุดครับ เคยเห็นคนทำงานกราฟฟิกเร็ว ๆ มั้ย พวกนั้นใช้ Shortcut ใน Photoshop คล่องมาก คีย์อะไรจำได้หมด ฝีมือเม้าส์ปากกาก็เฉียบคมราวกับเป็นอวัยวะที่ 33 ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ พวกนี้มาจากการที่เค้าเรียนรู้เยอะมากครับ ไม่ได้นั่งเล่น Facebook ตอนว่าง ๆ อย่างเดียว
ถ้าอยาก “ขี้เกียจ” ก็ต้องเรียนรู้ว่าทำงานยังไงให้กินเวลาชีวิตน้อยที่สุด
5. ทำงานให้ดีตั้งแต่ครั้งแรก เคยเจอโปรเจคที่ต้องแก้กันไปแก้กันมาหลายรอบมั้ยครับ รอบนึงกว่าจะส่งเมลไปหาลูกค้า กว่าลูกค้าจะตอบกลับมา กว่าเราจะแก้เสร็จส่งไปอีก ก็ใช้เวลาหลายวัน หลายชั่วโมงมาก
คนที่เป็น “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” จะเก็บข้อมูลอย่างละเอียด คิดวิเคราะห์ถึงปัญหาที่น่าจะเจอและแก้ไขมันตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลานั่งงง นั่งคิดหน้าคอมนาน ๆ ก่อนส่งงานให้ลูกค้าก็ลองปรินท์ออกมาเช็คให้เรียบร้อยว่ามีสิ่งไหนขาดตก บกพร่องมั้ย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้งานออกมาดีตั้งแต่ Draft แรกที่ส่งลูกค้า ไม่ต้องมาเสียเวลาแก้กลับไปกลับมากับลูกค้าบ่อย ๆ
6. ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า แน่นอนว่าลูกค้านำพาทั้งงานและเงินมาให้เรา อย่างไรก็ตาม ลูกค้าบางคนนอกจากจะนำพาทั้งงานและเงินมาให้ ยังนำพาความยากลำบากมาด้วย
คนที่เป็น “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” จะรู้ตัวอยู่เสมอว่าอาชีพที่เค้าทำเป็นงานที่ต้องใช้ความสามารถ และควรจะทำงานกับลูกค้าที่เห็นคุณค่าของมัน ถ้าเจอลูกค้าที่พูดไม่ดี, กดราคา, หรือปฏิบัติกับเราไม่เหมาะสม ควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลมไปเลย ถึงแม้เราอาจจะรู้สึกไม่ดีเวลาปฏิเสธงาน แต่รับรองได้เลยว่าเราจะรู้สึกไม่ดียิ่งกว่าเดิมตอนที่เรารับงานมาแล้ว แล้วพยายามทำงานให้เสร็จ
นอกจากนั้น อย่าลืม
เขียนสัญญากับลูกค้าไว้ให้ชัดเจน ในการทำงานทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่มาเพิ่มงานเราเกินค่าจ้างได้
7. จ้างคนมาทำงานแทนเราบ้าง ยิ่งเราทำงานเยอะก็ยิ่งได้เงินเยอะ แต่ถ้าใครเคยรับงานจำนวนมาก ๆ พร้อมกันก็น่าจะรู้ว่ามันควบคุมยากแค่ไหนครับ คนทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกใช้ให้ดี
งานไหนที่เราอยากทำเราก็ลงไปใช้เวลากับมันเยอะ ๆ ส่วนงานอื่น ๆ ก็จ้างคนมาช่วยทำงานแทนเราบ้าง เวลาหาคนมาช่วยทำงานต้องหาคนที่มีความรู้พอ ๆ กับเรา หรือมากกว่าเรายิ่งดี ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเราต้องมาคอยสอนเค้าทำงาน ยิ่งเสียเวลามากกว่าเราลงไปทำเองอีกครับ
ส่วนถ้าใครยังสงสัยว่าจ้างคนอื่นมาแล้วดีกว่าทำเองจริงเหรอ ลองคิดดูว่าสมมติเราทำงานคนเดียว ต้องคุยกับลูกค้าเอง ลงมือเอง อาจจะรับได้เดือนละ 5 งาน แต่ได้เงิน 100% กับอีกแบบคือเราไปคุยกับลูกค้าเอง แต่จ้างคนอื่นลงมือทำแทน เดือนนึงรับงานได้ 20 งาน ได้เงิน 50% ต่องานก็รายได้เกินจากแบบแรกแล้วครับ
คุณพร้อมจะเป็น “ดีไซน์เนอร์ขี้เกียจ” หรือยัง
เทคนิค 7 ข้อนี้จะทำให้คุณกลายเป็นดีไซเนอร์ที่ทำงานได้เร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ทำให้คุณภาพงานของคุณลดลง อย่าลืมแชร์ให้เพื่อน ๆ ในวงการดีไซเนอร์ของคุณ ชวนเค้ามาเป็น “ดีไซเนอร์ขี้เกียจ” ด้วยกัน !
ที่มา:
http://www.designil.com/awesome-lazy-designer.html