เครื่องดนตรีในตัวมนุษย์
เมื่อลมหายใจออก ผ่านกล่องเสียงที่อยู่บริเวณลำคอ จะทำให้สายเสียงสั่น
เกิดเสียงในระดับต่างๆขึ้น ยิ่งเมื่อได้โพรงในลำคอและจมูกช่วยการสะท้อนเสียงด้วยแล้ว
เสียงจะยิ่งมีกังวานมากขึ้น
เสียงสูงๆต่ำๆที่เปล่งออกมาอย่างได้จังหวะนี้
จัดเป็นเครื่องดนตรีวิเศษสุดชิ้นหนึ่งที่มนุษย์สามารถบรรเลงได้โดยตัวเอง
เสียงที่เปล่งออกมาได้อย่างแจ่มใส ตรงโน้ต มีกังวานชวนฟังนั้น
ย่อมมาจากลมหายใจในช่องท้องจำนวนพอเหมาะที่จะทำให้เสียงสั่นในความถี่ที่ต้องการ
ในทางตรงข้ามถ้าลมไม่พอ เสียงที่ออกมาจะไม่สดใส บางทีอาจเพี้ยนไป
การหายใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงเป็นผู้ให้ชีวิตเท่านั้น
แต่ยังเป็นขุมพลังมหาศาลแก่เครื่องดนตรีวิเศษชิ้นนี้อีกด้วย
การหายใจแบ่งอย่างคร่าวๆได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรก หายใจก่อนร้องเพลง เอาลมไปเก็บไว้ในช่องท้องและปอด
เพื่อเป็นแรงสำคัญในการร้อง วรรคแรกของเพลงให้จับใจผู้ฟัง
ขณะร้องเพลงไปก็ผ่อนลมหายใจออกมาจนลมที่เก็บไว้หมดไปทุกที
ทำให้ต้องหายใจเอาลมครั้งใหม่เข้าไปอีก
อีกประการหนึ่งแม้ว่าลมจะยังไม่หมดแต่เราคงกลั้นลมหายใจนานๆไม่ได้
เพราะในช่วงนี้ร่างกายขาดออกซิเจน
การหายใจขณะร้องเพลงจึงเป็นเรื่องหนีไม่พ้น
จัดเป็นการหายใจที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องกระทำกัน
การฝึกการหายใจแบ่งได้เป็น 3 จังหวะ จังหวะที่หนึ่ง สูดลมหายใจเข้า ให้ตรงดิ่งไปที่ช่องท้องก่อน
แล้วค่อยขยายขึ้นสู่ปอด อกและหลังจะขยายกว้างขึ้น จังหวะที่สอง เป็นการอัดลมในช่องท้องโดยการเกร็งกล้ามเนื้อที่หน้าท้อง
หรือโดยใช้การบังคับของกล้ามเนื้อกระบังลมเพื่อให้เกิดความดันเพียงพอให้สายเสียงสั่นได้
นอกจากนี้ยังทำให้กระบังลมขยายตัวสูงขึ้นพลอยให้โพรงในลำคอกว้างขึ้น
ยิ่งเมื่อได้ริมฝีปากช่วยจะยิ่งได้เสียงที่ออกมาจากคอโดยตรงและมีกังวานใส
เพราะมีการสะท้อนในลำคอช่วยอีกแรงหนึ่ง จังหวะที่สาม เป็นการผ่อนลมหายใจ (ถ้าเป็นในขณะร้องเพลง จังหวะนี้จะเป็นจังหวะที่เสียงออกมา)
ต้องควบคุม ด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม อย่างสม่ำเสมอ ให้ลมออกมากน้อย
ตามความดังค่อยของเสียงที่ต้องการ ต้องคอยระวังไม้ปล่อยมากเกินไป
มิฉะนั้นจะทำให้ลมหมดเสียก่อน หรือไม่ก็มีเหลือน้อยเกินกว่าจะสามารถประคองเสียงอยู่ได้จนจบประโยคปัญหาที่มักพบกันก็คือ ปัญหาลมมาอัดอยู่ในคอจนเกิดอาการเกร็งร้องไม่ออก
วิธีแก้ คือ ให้หมุนคอไปมา ลมจะออกมาบ้าง ช่วยให้สบายขึ้น
การฝึกฝนการหายใจทั้ง 3 จังหวะนี้ ควรทำเป็นประจำทุกวัน
โดยเริ่มทำช้าๆ ก่อน แล้วค่อยเร็วขึ้น อาจรู้สึกหน้ามืด เป็นเพราะมีเลือดฉีดขึ้นไปเลี้ยงสมองมากเกินไป
ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ให้พักเสีย การฝึกหายใจอย่างสม่ำเสมอ เท่ากับเป็นการบริหารอย่างหนึ่ง
ช่วยให้กล้ามเนื้อกระบังลมแข็งแรงและมีพลังในการร้องเพลงเราควรเลือกหายใจตรงไหนดี บางคนเลือกหายใจทุกระยะที่รู้สึกติดขัด คือลมหมดเมื่อไรก็หายใจเมื่อนั้น
วิธีนี้เสี่ยงหน่อย ถ้าหยุดไม่ถูกที่ อาจทำให้เพลงขาดหายไปเฉยๆ
ผู้ฟังหมดอารมณ์ต่อเนื่องไปอย่างน่าเสียดาย บางคนเลือกหายใจเอาที่ระยะหมดประโยคในเพลงซึ่งพอจะแก้ไขข้อเสียของรายแรกได้
แต่ก็ไม่วายมีข้อติ คือ ถ้าผู้ร้องผ่อนลมหายใจตอนแรกมากเกินไป
พอถึงตอนท้ายประโยคลมจะไม่พอ ทำเสียงเพี้ยนหรือเสียงแกว่ง หรือขาดหายไป ทำให้ไม่เพราะ
นักร้องที่ฉลาด จะหาจุดหายใจในเพลงของตัวก่อนอย่างอื่น และซักซ้อมไว้ให้ดีจนคนฟังจับไม่ได้ บางท่านหยุดหายใจพวกคำตายต่างๆที่ต้องลงท้ายด้วยแม่ กก กด กบ
เพราะสระพวกนี้มีเสียงสั้นไม่ต้องเอื้อน อีกที่หนึ่ง ได้แก่บริเวณท้ายประโยคแต่ละตอนของเพลง
เราอาจหยุดหายใจสั้นๆก่อนตัวสุดท้าย เพื่อจะได้มีพลังไว้ยืดโน้ตตัวสุดท้ายนั้น
ทำให้เสียงฟังนุ่มนวลขึ้นการฝึกหายใจเป็นหลักสำคัญในการร้องเพลง เพราะ
ลมที่ได้จากการหายใจแต่ละครั้ง หมายถึง ชีวิตและพลัง
ควรที่ผู้สนใจทางด้านนี้จะฝึกฝนไว้จนเกิดความเคยชิน นอกจากนี้การร้องเพลงให้ได้ดี ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นอีกมาก
เช่น สำเนียงร้องที่ชัด การใช้ปากกับการออกเสียง อารมณ์
ตลอดจนการทำเสียงให้ไพเราะโดยอาศัยการเคลื่อนไหวของกราม การทำเสียงรัว ฯลฯ เป็นต้น หูของตัวจะเป็นครูที่ดีบอกให้รู้ว่า เสียงที่ออกมานั้น มีคุณภาพแค่ไหน
หรือถ้าใครอยากให้คนอื่นช่วยฟังก็คงจะดียิ่งขึ้น แต่แม้จะเตรียมลูกเล่นไว้มากมาย ถ้าไม่หายใจเตรียมพลังเสียอย่าง ลูกเล่นก็หมดความหมาย
ที่มา: หนังสือเพลง “มน” เล่ม 2 ปี 2518 เขียนโดย ผู้ใช้นามปากกา “โรส”
เรียบเรียงและนำเสนอ โดย ปิรันญ่า
http://oknation.nationtv.tv/blog/nanahahe/2009/05/05/entry-1