อวัยวะที่สำคัญในการหายใจ ได้แก่
1. ปอด (Lungs) ภายในปอดจะมีถุงลมเล็กๆมากมาย มีหน้าที่ในการเก็บลมเพื่อนนำมาใช้ในการหายใจ,ฟอกโลหิต ฯลฯ โดยปกติคนเราไม่สามารถหายใจเข้าไปในถุงลมได้ครบทุกถุง แต่การร้องเพลงจำเป็นที่จะต้องฝึก เพื่อให้สามารถหายใจเข้าไปในถุงลมได้มากที่สุด
2. กระบังลม (Diaphram) กล้ามเนื้อผืนใหญ่ใต้ปอด ที่อยู่เหนือกระเพาะอาหาร ประกอบด้วยซี่โครง และกล้ามเนื้อส่วนชองหน้าท้อง กระบังลมเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่งที่เราสามารถบังคับให้ช่วยปอดในการกักเก็บลมได้มากขึ้น เมื่อเราหายใจเข้าปอด ซี่โครงจะขยายตัวเพราะถูกดึงโดนกล้ามเนื้อที่ติดอยู่กับหัวไหล่ เมื่ออากาศเข้าสู่ปอด กระบังลมต้องเคลื่อนตัวลงต่ำ และจะมีหน้าที่ดันอวัยวะภายในช่องท้องมิให้เคลื่อนตัวขึ้นตามการขยายตัวของซี่โครง เพื่อที่จะสามารถกักเก็บลมได้มากๆ
3. ซี่โครง เมื่อเราหายใจเข้า ปอดจะขยายตัวออก และเมื่อปอดขยายตัวออกจะไปดันให้ซี่โครงเกิดการขยายตัว โดยการขยายตัวของซี่โครงนั้นจะขยายจากด้านล่างก่อน
4. กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Front Muscles) มีหน้าที่บังคับลมเข้าออกในปริมาณน้อยไปหามาก ดังนั้นการออกเสียงในลักษณะ จากเสียงค่อยไปหาเสียงดัง หรือเสียงแคบไปหากว้างนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้อวัยวะส่วนนี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อเราหายใจเข้า กล้ามเนื้อหน้าท้องจะขยายตัวออกมาทางด้านหน้า การหายใจออกจะเกิดจากการที่ปอดหดตัวลง ซี่โครงกลับคืนสู่ตำแหน่งปกติ กระบังลมยกตัวขึ้นกลับเข้าที่ กล้ามเนื้อหน้าท้องหดตัวลง
การหายใจและการควบคุมลมในการร้องเพลง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เสียงของคนเราเกิดจาการหายใจเอาลมมาทำการสั่นสะเทือนเส้นเสียงนั้น เราอาจกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า การหายใจที่มีคุณภาพ คือเคล็ดลับในการทำให้เราสามารถใช้เสียงได้อย่างมีคุณภาพด้วย เพราะการที่เราสามารถควบคุมการหายใจได้ ก็เท่ากับว่าเราสามารถควบคุมลมที่จะมากระทบเส้นเสียงของเรา ให้เกิดเสียงได้ตามต้องการ ถ้าสามารถควบคุมการหายใจได้ เราก็สามารถควบคุมการผลิตเสียงให้นิ่ง เรียบ สามารถควบคุมช่วงประโยคของเพลง และสามารถควบคุมความหนักเบาของเสียงได้ ฉะนั้นหากเราได้รับการฝึกซ้อมในการหายใจอย่างถูกวิธีเป็นประจำแล้ว จะทำให้การขับร้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ที่มา: http://ร้องเพลง.blogspot.com/2013/01/blog-post_5679.html