ไข้ซิกาเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ส่วนน้อยที่มีอาการเจ็บป่วยนั้นมักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย หายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในคนทั่วไป ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อทารกในครรภ์
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในสกุลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) เช่นเดียวกับไวรัสเด็งกี่ (เชื้อไข้เลือดออก) และมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลาย ดังนั้นจึงพบโรคนี้ระบาดในพื้นที่เดียวกับที่มีการระบาดของไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย
นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่จากมารดา (หญิงที่ตั้งครรภ์) ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ และมีรายงานว่าเชื้อนี้อาจติดต่อทางเลือด และทางเพศสัมพันธ์
ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-12 วัน (เฉลี่ย 4-7 วัน)
อาการ
ผู้ติดเชื้อไวรัสซิการาวร้อยละ 80 ไม่มีอาการแสดงของโรค มีราวร้อยละ 20 ที่จะมีอาการเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นหลังถูกยุงลายบ้านกัดประมาณ 3-12 วัน
มักมีอาการไข้เล็กน้อย ขึ้นเป็นผื่นแดงตามแขนขาและลำตัว ตาแดง (เยื่อตาขาวอักเสบ) มีอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ และอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียร่วมด้วย
อาการมักจะเป็นเพียงเล็กน้อย และเป็นอยู่นานประมาณ 2-7 วัน
ภาวะแทรกซ้อน
สำหรับคนทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ยกเว้นในบางรายอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรได้ ซึ่งจะมีอาการกล้ามเนื้อแขนขา 2 ข้างและลำตัวอ่อนแรงเฉียบพลัน
ที่สำคัญ หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ เช่น ทำให้แท้งบุตร ทารกมีสมองเล็ก (Microcephaly) หรือสมองพิการร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ อาจทำให้ทารกเป็นกลุ่มอาการไข้ซิกาโดยกำเนิด (Congenital Zika Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน เช่น สมองเล็กอย่างรุนแรงร่วมกับกะโหลกบางส่วนยุบ เนื้อสมองถูกทำลาย ตาพิการ ข้อพิการ (เคลื่อนไหวลำบาก) กล้ามเนื้อเกร็งตัว (ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวลำบาก) เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบดังนี้
ไข้ ตัวร้อนเล็กน้อย
ผื่นแดง
ตาแดง
ในรายที่ไม่แน่ใจ แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสซิกาในเลือดหรือปัสสาวะของผู้ป่วย
ข้อมูลสุขภาพ: ไข้ซิกา (Zika fever) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops