นกกรงหัวจุก นกตัวน้อย ปราดเปรียว เสียงไพเราะ หลายคนตั้งฉายามันคือ "นักรบราวเหล็ก" นั่นก็คือ เวลานำกรงขึ้นราวเหล็กในสนามแข่งขันการประกวดเสียงนกร้อง นักรบตัวน้อยน่ารักเสียงใสจะคึกคักปราดเปรียวมีความหึกเหิมที่จะเข้าต่อสู้พันตูกับนกกรงอื่น ๆ นักรบตัวน้อยจะส่งเสียงร้องก้องกังวานเข้าต่อกรกับนกกรงข้าง ๆ ประหนึ่งใช้เสียงเข้าข่มขวัญ ฝ่ายนกคู่ต่อสู้กรงข้าง ๆ ก็จะส่งเสียงร้องก้องกังวานโต้ตอบเช่นกัน เป็นการใช้เสียงเข้าต่อกร เพราะไม่มีทางที่จะจิกตีให้รู้แพ้รู้ชนะกันได้แน่นอน นกเก่งๆ หลายตัวพอขึ้นราวเหล็กในสนามแข่งขัน เพียงแค่ส่งเสียงร้องก้องกังวานที่ไพเราะ ก็เล่นเอาไม่มีใครอยากจะให้นกของตนเองไปอยู่ข้าง ๆ ซะแล้ว และนี่ก็เป็นที่มาของ "นักรบราวเหล็ก" การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเพื่อเข้าสู่สนามแข่งขัน การประกวดเสียงร้องของนก ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ๆ
คุณนิพนธ์ สีลาเนียม หรือ นวย จอมบึง กรรมการบริหารสมาพันธุ์ผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ภูธรภาค 7 แห่งอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า นกกรงหัวจุกนี้เริ่มเลี้ยงกันในจังหวัดภาคใต้มาก่อน มีการแข่งขันประกวดเสียงร้องของนกมานานหลาย 10 ปีแล้ว ได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันความนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกแพร่หลายไปทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก
คุณนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นกกรงหัวจุกยังถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าสงวนฯ ถ้าถามว่า มีไว้ในครอบครองจะผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังผิดกฎหมายอยู่ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้เข้ามาจดทะเบียนนกเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ เพาะขยายพันธุ์ และเพื่อการประกวดเสียงร้อง เป็นนกเลี้ยงตามบ้านทั่วๆ ไป ไม่ได้ไปจับมาจากป่า เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ จึงสามารถเพาะเลี้ยงกันได้เช่นในทุกวันนี้
นกกรงหัวจุก ที่นิยมมาเลี้ยงกันนั้น คุณนิพนธ์ บอกว่า สายพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นนกมาจากภาคใต้ ลักษณะของนกที่นิยมเลี้ยงต้องแก้มแดง หงอนสูงโค้ง ก้นแดง ร้องเสียงไพเราะ ซึ่งในกลุ่มเดียวกันนี้ก็มีนกปรอดบ้านไม่มีจุก นกปรอดบ้านหน้าขาว และนกปรอดบ้านหน้ามอมจุกดำ ไม่นิยมเลี้ยงเพื่อการแข่งขันเสียงร้อง เพราะร้องน้ำเสียงไม่ไพเราะ
นกกรงหัวจุกแต่ละถิ่นผู้เพาะเลี้ยงนกที่ช่างสังเกตและศึกษาเรียนรู้จริง ๆ จัง ๆ แล้วจะทราบดีว่ามีลักษณะรูปพรรณสัณฐานแตกต่างกัน แต่ก็ไม่มากนัก แตกต่างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น คนที่ไม่ใช่นักเลี้ยงนกกรงหัวจุกจริงๆ อาจจะไม่ทราบข้อแตกต่างก็ได้ อย่างเช่น นกกรงหัวจุกจากสวนผึ้ง ราชบุรี ก็มีความแตกต่างจากนกภาคใต้ น้ำเสียงลีลาการร้องก็แตกต่างออกไป ปัจจุบัน นกจากสวนผึ้งได้รับความนิยม จัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของนกเสียงไพเราะก็ได้
"นกจากใต้ประเภทเสียงทองจะร้องเสียงใหญ่ห้าว บางตัวร้องได้ถึง 6-7 พยางค์ การฟังเสียงร้องของนกนั้น นับจากคำร้อง ถ้าร้อง 1 ครั้ง นับเป็น 1 พยางค์ เช่น นกร้อง จก ควิก ควิก แบบนี้ 3 พยางค์ ร้อง จก ควิก ควิก ไขว ยอ ลิ เหลี่ยว อย่างนี้ 7 พยางค์ แต่นกส่วนใหญ่จะร้อง 3 พยางค์ เช่น จก ควิก ควิก หรือ ควิก จก ควิก นกประกวดเสียงร้องมักจะร้อง 4-5-6 พยางค์ การร้องแต่ละพยางค์ของนกนั้น เขาเรียกว่า "แม่ไม้เพลงนก" ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเข้าใจและฟังเสียงร้องของนกได้"
คุณนิพนธ์ กล่าวและว่า สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นประเภทมือใหม่สมัครเล่นนั้น ก่อนจะไปซื้อนกมาเลี้ยงขอให้ปรึกษาคนที่มีความรู้ กำลังเลี้ยงนกอยู่ในขณะนี้ หรือจะไปซื้อนกตามสนามแข่งขันนกกรงหัวจุกทั่ว ๆ ไปก็ได้ การซื้อนกไม่จำเป็นต้องซื้อนกที่สวยงามถูกต้องตามองค์ประกอบทั้งหมด ทุกวันนี้เราเลี้ยงนกก็เพื่อฟังเสียงร้องที่ไพเราะ เลี้ยงเพื่อการประกวดเสียงร้องของนก เวลานำนกไปแข่งขันตามสนามต่าง ๆ เมื่อนกขึ้นราวเหล็กในสนาม นกจะต้องร้องอย่างเดียวเท่านั้น กรรมการจึงจะตัดสินให้คะแนนเสียงร้องของนก ไม่ได้ดูว่านกตัวนั้นจะสวยหรือไม่สวยขนาดไหน และเสียงร้องของนกต้องร้อง 3 พยางค์ ขึ้นไป จึงจะซื้อได้
"ขอให้ท่านซื้อนกจากคนที่เราอยากซื้อ แต่อย่าซื้อนกจากคนที่เขาอยากขาย"
คุณนิพนธ์ บอกว่า นกที่เขาอยากขายก็หมายความว่า นกตัวนั้นไม่สู้บนราวเหล็ก หรือร้องไม่เพราะ เขาจึงอยากขาย นกต้องมีข้อบกพร่อง เจ้าของจึงอยากขาย แต่กับนกที่เราอยากซื้อก็เพราะเราเห็นว่านกตัวนั้นดี มีน้ำเสียงไพเราะก้องกังวาน หรือคนที่เลี้ยงนกอยู่เขาเลี้ยงเพื่อส่งนกเข้าประกวด กรณีมือใหม่สมัครเล่นถ้าคนขายให้คำปรึกษาได้ดี เลี้ยงนกเพื่อการแข่งขันประกวดเสียงจริงๆ จะมีความน่าเชื่อถือ ถ้ามีโอกาสเลือกนกได้ถึงแม้ราคาแพง หากสู้ราคาได้ก็ควรซื้อ ดีกว่าเลี้ยงนกที่ไม่มีอนาคตในการลงสนามแข่งขัน เปลืองค่าอาหารเปล่าๆ
แนะเลี้ยง นกกรงหัวจุก ให้เป็นนักรบราวเหล็ก ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://www.plawharn.com/