การสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยนับว่าเป็นความฝันของคนส่วนใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งก่อนการตัดสินใจสร้างบ้าน เจ้าของบ้านควรเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมของบ้านทั้งหลังก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งการเตรียมความพร้อมนี้ จะช่วยให้เราได้บ้านแบบที่อยากได้ ทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่น และการสร้างบ้านเสร็จลุล่วงตามเวลา-แผนที่กำหนดไว้ ซึ่งเรื่องต่างๆ ที่เจ้าของบ้านใหม่ควรคำนึงถึง-ไม่ควรมองข้าม มีอะไรบ้าง
10 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มสร้างบ้าน มีอะไรบ้าง? ควรดูอะไรบ้าง?
1. ดูทำเลที่ตั้ง ดูที่ดินสำหรับปลูกสร้าง
การเลือกทำเลที่ตั้งในการปลูกบ้าน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในเรื่องของการสร้างบ้าน เจ้าของบ้านควรคำนึงถึงความสะดวกสบายหลังจากที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกเมื่อเจ้าของบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว เช่น การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ การเดินทางไปที่ทำงาน การเดินทางไปสถานที่สำคัญต่างๆ และความปลอดภัยของย่านทำเลที่อยู่อาศัย รวมถึงเส้นทางในการเดินทางเข้า-ออกจากบ้าน (ควรมีมากกว่า 1 เส้นทาง)
2. ดูระดับความสูงของพื้นที่ ต้องถมดินหรือไม่
ต้องถมดินเพิ่มระดับความสูงหรือไม่ เป็นคำถามยอดฮิตก่อนการสร้างบ้านเลยทีเดียว บางคนบอก 50 ซม. บ้างก็ว่า 30 ซม. ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่มีข้อกำหนดแน่นอน การถมดินเพื่อสร้างบ้าน ควรถมดินหรือไม่ ควรถมเท่าไหร่ ให้ดูที่ระดับพื้นถนนหน้าบ้านเรา ซึ่งบริเวณบ้านที่จะทำการก่อสร้าง ควรสูงกว่าระดับถนน 50 ซม. ขึ้นไป (ถ้าถนนหน้าบ้านเป็นดินแดง ลูกรัง ควรถมดินให้สูงกว่าระดับถนนหน้าบ้าน 1 เมตร เพื่อรองรับการทำถนนใหม่ในอนาคต)
แต่ถ้าบริเวณก่อสร้างมีน้ำท่วมถึง ก็ให้ดูร่องรอยน้ำท่วม แล้วถมดินให้สูงกว่ารอยน้ำท่วม 50 ซม. ขึ้นไป
3. ดูทิศทางแดด ทิศทางลม และดูแปลนบ้าน
ทิศทางแดดและทิศทางลม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการวางตำแหน่งแปลนบ้านที่ดี จะช่วยให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้าน มีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลมพัดเข้า-ออกเย็นสบาย โดยทิศทางแสงแดดจะวิ่งเป็นแนวตะวันออกไปทางทิศใต้ แล้วสิ้นสุดที่ทิศตะวันตก เหมาะสำหรับห้องที่สมาชิกในบ้านไม่ได้ใช้เวลาอยู่นานนัก หรือห้องที่ต้องการแสงแดดเพื่อลดความชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว หรือพื้นที่ซักล้าง
ส่วนทิศเหนือควรเป็นห้องนอน เพราะเป็นพื้นที่ ที่ไม่ถูกรบกวนจากแสงแดดมากนัก หรือจะใช้เป็นห้องนั่งเล่นก็ได้
ส่วนในเรื่องของทิศทางลม บ้านที่ดีควรหันด้านยาวของตัวบ้านเข้าหาลม เพื่อเพิ่มพื้นที่การรับลมธรรมชาติเข้าบ้าน(ลมจะเข้าทางหน้าต่างด้านข้างของตัวบ้าน) ซึ่งจะช่วยระบายความร้อนภายในบ้านได้ดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศภายในตัวบ้านได้อีกด้วย
4. ดูทิศทางการวางบันได
ทิศทางในการวางบันใด การหันบันมดในตัวบ้าน ไม่แนะนำให้หันบันไดไปทางทิศตะวันตก เนื่องจากทิศตะวันตกเป็นทิศที่มีแสงแดดตอนบ่ายค่อนข้างแรง อาจทำให้บันใดร้อนมากไปหรือแสงแดดจ้าอาจจะส่องตา ทำให้เจ้าของบ้านแสบตาจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องวางในทิศตะวันตก ก็ไม่ควรให้ผนังด้านที่บันไดมุ่งไปหานั้นมีแสงแดดส่องผ่านมาได้ โดยอาจเปลี่ยนเป็นการนำแสงแดดธรรมชาติลงมาจากด้านบนเพดานแทนก็ได้
5. ดูความสูงของเพดาน (ความสูงภายในบ้าน)
ความสูงของเพดานก็สำคัญ ถ้าเราออกแบบให้เตี้ยไป-เวลาอยู่อาศัยจะรู้สึกอึดอัดได้ ถ้าเราออกแบบให้สูงไปก็จะโคร่งๆ เปลืองพลังงานจากเครื่องปรับอากาศ
เราควรจะเผื่อความสูงฝ้าเพดานไว้เท่าไหร่ดี? โดยปกติความสูงฝ้าโดยทั่วไป (วัดจากระดับพื้นถึงท้องฝ้า) ควรจะสูงไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่กำลังสบายไม่อึดอัดหรือรู้สึกโดนกดทับ และประหยัดค่ากระเบื้องได้อีกด้วย คือ ปัจจุบันวัสดุกรุผนังส่วนใหญ่จะทำออกมาที่ตัวเลขรวมได้ 2.40 พอดี ยกตัวอย่างเช่น กระเบื้องขนาด 30 x 30 ซม. หากปู 8 แถว ก็จะได้ความสูง 8 x 30 = 2.40 เมตร พอดี ทำให้กระเบื้องไม่เหลือเศษทิ้งให้เสียของ และหากต้องกรุในปริมาณมากๆ ก็ช่วยลดงบประมาณในการซื้อวัสดุกรุผนังลงได้เช่นกัน
6. ดูจำนวนสมาชิก จำนวนผู้พักอาศัยในบ้าน
สมาชิกในบ้าน ต่างเพศ ต่างวัย ย่อมมีความต้องการพื้นฐานที่แตกต่างกัน จำนวนสมาชิกและความต้องการของผู้อยู่อาศัยในบ้าน มีผลต่อการออกแบบบ้านอย่างมากต่อ การออกแบบ จำนวนชั้น การจัดสรรพื้นที่ใช้สอย การกั้นห้อง และการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง
โดยความต้องการใช้บ้านนั้น ควรมองทั้งความต้องการส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน ความต้องการโดยรวมเรื่องสไตล์บ้านและแนวคิดเรื่องบ้านที่ต้องการ เช่น บ้านเพื่อผู้สูงอายุ บ้านสำหรับครอบครัวใหญ่ บ้านประหยัดพลังงาน เพื่อให้การออกแบบบ้านและการสร้างบ้านนั้น เอื้อประโยชน์ต่อการพักอาศัยและตอบโจทย์ทุกความต้องการมากที่สุด
7. ดูงบประมาณที่ใช้การสร้างบ้าน
งบประมาณการสร้างบ้าน คือ ปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งในการตัดสินใจสร้างบ้านหรือเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน การตั้งงบประมาณไว้อย่างรอบคอบ และรัดกุม จะช่วยไม่เกิดปัญหางบบานปลายภายหลัง เจ้าของบ้านจะได้บ้านที่ตอบโจทย์มากที่สุด และทำให้เจ้าของบ้านมีคำตอบที่ชัดเจนในการเลือกวัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้าน และง่ายต่อการตัดสินใจสร้างบ้าน การเลือกแบบ วิธีการสร้าง ขนาดพื้นที่ รวมถึงการใช้จ่ายในการตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวก รอบบริเวณบ้าน และพื้นที่สวนด้วย
8. ดูช่วงเวลาและขั้นตอนการสร้างบ้าน
การกำหนดระยะเวลาของการสร้างบ้านที่เหมาะสม ดูลมฟ้าอากาศให้รอบคอบ จะช่วยให้สามารถวางแผนล่วงหน้าในงานก่อสร้างขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่มีปัญหาระหว่างการก่อสร้าง เพราะ หากระยะเวลาก่อสร้างนานเกินไปหรือยืดเยื้อ ช่วงเวลาการทำงานไม่เป็นระบบ ไม่รู้ขอบเขตงานที่แน่นอน อาจมีปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดปัญหาลากยาวไม่สิ้นสุดตามมา เช่น ฤดูกาลทำให้บางขั้นตอนของงานสร้างใช้เวลามากกว่าปกติ การดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านไม่รองรับขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงการเตรียมงบประมาณสำหรับจ่ายในขั้นตอนต่างๆ อาจจะมีปัญหาได้
ขั้นตอนในการสร้างบ้าน โดยทั่วไป แบ่งออกเป็นขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : ตอกเข็มหล่อฐานราก คานคอดิน และตั้งเสาชั้นล่าง
ขั้นตอนที่ 2 : หล่อคานชั้นบน และตั้งหรือหล่อเสาสำหรับรับหลังคาชั้น 2
ขั้นตอนที่ 3 : มุงหลังคา ก่ออิฐผนัง ฉาบปูน ติดตั้งวงกบ ใส่ฝ้าเพดาน
ขั้นตอนที่ 4 : ปูวัสดุพื้น ติดตั้งประตู หน้าต่าง ติดตั้งระบบท่อน้ำ
ขั้นตอนที่ 5 : บุผนังกระเบื้อง ติดตั้งสุขภัณฑ์ ทาสี เดินสายไฟ ติดตั้งโคมไฟ
ขั้นตอนสุดท้าย : ตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อย อาจต้องเก็บรายละเอียดส่วนที่เหลือบ้างบางส่วน
การสร้างบ้านมีรายละเอียดภายในแต่ละขั้นตอนค่อนข้างมาก ดังนั้นเจ้าของบ้านควรให้เวลาศึกษาข้อมูลดีๆ เพื่อที่จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย และเสียเวลารื้อใหม่
9. ดูแบบบ้านและทำเรื่องขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน
เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักมีประสบการณ์ในการสร้างบ้านอยู่บ้าง แต่อาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการสร้างบ้านนี้ เจ้าของบ้านต้องเป็นหลักในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง งบประมาณ หรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างงานก่อสร้าง ดังนั้นเพื่อให้ความต้องการที่จะสื่อสารกับสถาปนิก วิศวกร หรือคนทำงานเป็นไปอย่างชัดเจน-มีความเข้าใจตรงกัน เจ้าของบ้านควรให้เวลาศึกษา ทำความเข้าใจแบบบ้านที่ต้องการ เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ระหว่างการพูดคุยวางแผน ทำให้เกิดความราบรื่นมากขึ้น
เอกสารที่ใช้ในการขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน สามารถดำเนินการต่อสำนักงานเขตท้องถิ่นในพื้นที่ที่กำลังจะสร้างบ้านได้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการสร้างบ้านที่ถูกต้อง มีมาตรฐาน ไม่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่น โดยเอกสารที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
เอกสารคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร (ข.1)
แบบแปลนแผนผังบ้าน
หนังสือรับรองว่าเป็นผู้ออกแบบ สถาปนิก วิศวกร พร้อมสำเนาใบอนุญาต
สำเนาโฉนดที่ดินพื้นที่จะก่อสร้าง
สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านเจ้าของอาคาร
10. ดูบริษัทรับสร้างบ้าน เลือกใช้มืออาชีพมาทำการก่อสร้าง
การเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน การเลือกมืออาชีพมาทำการก่อสร้างบ้านตามแบบที่ตอบโจทย์ งบไม่บานปลาย และสร้างบ้านแล้วได้บ้านอย่างที่ใจหวังนั้น โดยก่อนตัดสินใจเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน ควรทำความรู้จักแต่ละบริษัท เปรียบเทียบผลงาน ความน่าเชื่อถือ บริการก่อนและหลังสร้างบ้านเสร็จ การดูแลรักษา การตรวจสอบข้อบกพร่องการรับประกันโครงสร้างหลังสร้างบ้าน ใบอนุญาตการดำเนินงานและมาตรฐานของบริษัท รวมถึงเครือข่ายบริษัทวัสดุที่ใช้ในการดำเนินงานก่อสร้าง โดยควรใช้เวลาพิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และรอบคอบมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดข้อยุ่งยากตามมาในภายหลัง
สอนสร้างบ้าน: ข้อควรรู้ก่อนเริ่มสร้างบ้าน มีอะไรบ้าง? ควรดูอะไรบ้าง? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://realestatebb.com/