ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ
1. ภาวะหัวใจล้มเหลว
เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของโรคหัวใจ เกิดขึ้นเมื่อหัวใจของคุณไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเป็นผลมาจากโรคหัวใจหลายประเภท รวมถึงความบกพร่องของหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคลิ้นหัวใจ การติดเชื้อที่หัวใจ
2. หัวใจวาย หากเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันกระทันหัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ไฟฟ้าหัวใจผิดปกติจนเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรงจนหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest)
3.โรคหลอดเลือดสมอง
คือ ปัจจัยเสี่ยงสามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองของคุณแคบลงหรือถูกปิดกั้นทำให้เลือดเข้าสู่สมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้สมองขาดเลือด
4.หลอดเลือดแดงโป่งพอง
เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกายโดยหากหลอดเลือดโป่งพองแตก จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกภายในอย่างมากและรวดเร็ว เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
5.โรคหลอดเลือดส่วนปลาย
หากเป็นโรคหลอดเลือดส่วนปลาย สิ่งนี้ทำให้เกิดอาการปวดแขนหรือขาเมื่อออกแรง เหตุเพราะเลือดไปเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ (Claudication) และหากอุดตัน จะทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อส่วนปลาย เช่น เท้า ได้
6. ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน
คือ การสูญเสียการทำงานของหัวใจ การหายใจและหมดสติอย่างกะทันหันโดยไม่คาดคิด ซึ่งมักเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันเป็นภาวะฉุกเฉิน หากไม่ได้รับการรักษาทันทีจะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจตายอย่างกะทันหัน
การป้องกันโรคหัวใจ
ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจแม้ไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจงชัดเจน แต่ก็มีปัจจัยสิ่งหลายอย่างที่หากเราควบคุมได้ดีจะช่วยลดโอกาสโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้มาก เช่น
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน ควบคุมคอเลสเตอรอล และเบาหวาน
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
รับประทานอาหารที่มีเกลือและไขมันอิ่มตัวต่ำ
ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
ลดความเครียด
ฝึกสุขอนามัยที่ดี
การวินิจฉัยโรคหัวใจ
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและสอบถามประวัติของคนไข้และครอบครัว นอกจากการสอบถามประวัติโดยละเอียด การตรวจร่างกายการตรวจเลือด และเอกซเรย์ทรวงอกแล้ว การทดสอบพิเศษทางหัวใจต่างๆจะช่วยในการวินิจฉัย เช่น
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG)
คลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจทดสอบที่รวดเร็วและไม่เจ็บปวด
เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือ Ambulatory ECG Monitoring หรือ Holter ECG
เป็นอุปกรณ์ ECG แบบพกพาที่สามารถใส่เพื่อบันทึกจังหวะการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่องโดยปกติจะใช้เวลา 24 ถึง 72 ชั่วโมง การตรวจสอบ โดยใช้เพื่อตรวจจับปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่พบในระหว่างการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ Echocardiogram
เป็นการทดสอบแบบใช้คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เพื่อสร้างภาพและตรวจวัดโครงสร้างหัวใจโดยละเอียด ขนาดของหัวใจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจลิ้นหัวใจผนังกั้นและผนังหุ้มหัวใจ
Stress Test
เป็นการทดสอบการเพิ่มอัตราการเต้นและบีบตัวของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย หรือยา และวัดการตอบสนองทั้งชีพจรความดันโลหิตความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจและบางรายวัดความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจโดยการตรวจ Echocardiogram (Stress Echocardiogram) ช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางครั้งประเมินหลอดเลือดและสมรรถภาพการบีบตัวของกล้ามเนื้อที่ผนังหัวใจ
การสวนหัวใจ
เป็นการใส่ท่อสั้น ๆ เข้าไปในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงบริเวณขาหรือแขน เพื่อตรวจวัดภายในห้องหัวใจโดยตรงหรือการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ หรือผนังกั้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ หรือ CT SCAN
เป็นการทดสอบแบบใช้เอ็กซเรย์เพื่อสร้างภาพโครงสร้างโดยละเอียด เพื่อวัดคะแนนหินปูนของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score) และหากฉีดสารทึบรังสีด้วย จะได้ภาพของหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดปอด เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ผนังหัวใจ
การรักษาโรคหัวใจ
ชนิดการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ โดยทั่วไปมักประกอบด้วย:
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ด้วยการรับประทานอาหารสุขภาพ เช่น ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เกลือโซเดียมสูง ไขมันอิ่มตัวสูง คอเลสเตอรอลสูง รับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า 3 แทน เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้หลากหลายชนิด ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ยา
หากการปรับเปลี่ยงวิถีชีวิตเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อควบคุมโรคหัวใจหรือปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ
การรักษาอื่น ๆ นอกจากการรับประทานยา
การรักษาด้วยหัตถการหลอดเลือดหรือการผ่าตัด
การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด
การขยายลิ้นหัวใจที่ตีบด้วยบอลลูน
การใส่ลิ้นหัวใจเทียมแทนลิ้นหัวใจที่ตีบจากการเสื่อมสภาพ โดยการสอดใส่ผ่านทางหลอดเลือด
การปิดกั้นผนังกั้นหัวใจที่รั่วด้วยอุปกรณ์พิเศษผ่านทางหลอดเลือด
การจี้หัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดด้วยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูงโดยการใส่สายผ่านทางหลอดเลือด
การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร
การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ
การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจโดยใช้หลอดเลือดของผู้ป่วยเอง (Coronary artery bypass graft surgery)
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม
การรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้สามารถกลับมาแข็งแรงใช้ชีวิตประจำวันได้ และหากเป็นไปได้ให้สามารถออกกำลังกายได้มากขึ้น เพื่อช่วยในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงลดอาการโรคหัวใจได้ดีขึ้น โดยในช่วงแรกอาจอยู่ภายใต้การดูแลใกล้ชิดของแพทย์และนักกายภาพบำบัด และค่อย ๆ ปรับเพิ่มโปรแกรมที่สามารถทำได้เองมากขึ้นจนสามารถปฏิบัติเองได้ที่บ้านทั้งหมด
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
คำถาม: สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ คืออะไร
คำตอบ: สาเหตุของโรคหัวใจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจนั้น ๆ สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจจากภาวะการเสื่อมของหลอดเลือด มีสาเหตุไม่ชัดเจนแต่พบว่าสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และสามารถปรับเปลี่ยนได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้และไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เช่น อายุ เพศ หรือประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว แต่สามารถชะลอโรคด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่บริหารเองได้เพื่อป้องกันโรคหัวใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
คำถาม: ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ มีอะไรบ้าง
คำตอบ: ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เช่น อายุมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดแดงที่เสียหาย เพศชายมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่า เพศหญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังหมดประจำเดือน ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่สูบบุหรี่อาการหัวใจวายพบได้บ่อยในผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ การกินอาหารแบบผิด ๆ ความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง การขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
คำถาม: จะรักษาโรคหัวใจอย่างไร
คำตอบ: ชนิดการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ โดยทั่วไปมักประกอบด้วย: การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ด้วยการรับประทานอาหารสุขภาพ ทานผักและผลไม้หลากหลายชนิด ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากการปรับเปลี่ยงวิถีชีวิตเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อควบคุมโรคหัวใจหรือปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ การรักษาด้วยหัตถการหลอดเลือดหรือการผ่าตัด การรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/