หัวใจสำคัญของระบบไฟฟ้าภายในบ้านที่ต้องใส่ใจให้ดีเลยก็คือ ‘ตู้ไฟฟ้า’ หรือตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต (Consumer Unit) เมื่อติดตั้งตู้ไฟฟ้าครั้งหนึ่งแล้ว จะอยู่คู่กับบ้านไปอีกนานหลายปีเลยทีเดียว ดังนั้นการเลือกตู้ไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจให้ดี เพื่อช่วยให้ระบบไฟฟ้าในบ้านของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยอยู่เสมอ
รู้จัก ตู้ไฟฟ้า อุปกรณ์ระบบไฟฟ้าที่สำคัญของบ้าน
‘ตู้ไฟฟ้า’ หรือตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต (Consumer Unit) เป็นระบบไฟฟ้าหลักของบ้าน มักติดตั้งมากับบ้านตั้งแต่แรก เพื่อทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังจุดต่าง ๆ รวมถึงป้องกันอุบัติเหตุจากไฟฟ้าด้วยการตัดวงจรไฟฟ้า หากเกิดเหตุไฟช็อต ไฟรั่ว ไฟดูด เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะไม่ค่อยพิถีพิถันกับตู้ไฟฟ้ามากนัก จะปล่อยให้ช่างเป็นผู้ดูแลไปเลย และหลังจากทำการติดตั้งตู้ไฟฟ้าไปแล้ว จึงค่อยมาพบว่าประเภทของตู้ไฟฟ้านั้นไม่เหมาะสมต่อการใช้งานไฟฟ้าภายในบ้าน อาจส่งผลให้ต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่นั่นเอง
ประเภทของตู้ไฟฟ้า
1. ตู้ไฟฟ้าแบบ Main Distribution Board (MDB)
ตู้ไฟฟ้าที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอย่าง ตู้ไฟฟ้า Main Distribution Board (ตู้ MDB) หรือที่เรียกกันอีกหนึ่งชื่อว่า สวิตช์บอร์ด (Switchboard) นอกจากจะทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถใช้ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าได้ด้วย มีลักษณะเป็นแผงควบคุมขนาดใหญ่ แข็งแรง มีคุณภาพ ทนทานทั้งความร้อน แรงดัน การกัดกร่อน ความชื้น และสารเคมี จึงป้องกันความเสียหายจากเหตุไฟฟ้าลัดวงจรได้ จุดเด่นของตู้ไฟฟ้าประเภทนี้คือ มีวงจรตัดไฟ หรือ Circuit Breaker เพื่อป้องกันความเสียหายของวงจรไฟฟ้าที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าส่วนเกิน นิยมใช้ในอาคารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟปริมาณมาก
2. ตู้ไฟฟ้าแบบ Sub Distribution Board (SDB)
ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าระบบย่อย ทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังตู้ไฟฟ้าอื่น จึงมักนิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องแบ่งการควบคุมระบบไฟฟ้าให้เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการซ่อมบำรุงเครื่องจักรในแต่ละบริเวณ เพียงตัดไฟตู้ SDB ของบริเวณที่ต้องการซ่อมบำรุง ส่วนการทำงานของบริเวณอื่นจะยังสามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้เป็นปกติ
3. ตู้ไฟฟ้าแบบ Panel Board (PB)
ตู้ไฟฟ้า PB หรือตู้ Load Center สามารถแบ่งสัดส่วนการควบคุมระบบไฟฟ้าได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากในระบบจะมีหลายตู้ โดยจะมีวงจรตัดไฟ หรือ Circuit Breaker ติดอยู่ด้วย ลักษณะตู้จะมีฝาเปิดปิด และมีหลายขนาด เหมาะสำหรับใช้ในบ้านที่อยู่อาศัย อาคารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม
4. ตู้ไฟฟ้าแบบ Load Panel (LP)
ตู้ไฟฟ้าชนิดนี้ถ้าเป็นระบบไฟ 3 เฟส จะเรียกว่า ตู้ Load Center หากเป็นระบบไฟ 1 เฟส จะเรียกว่า ตู้ Consumer Unit เป็นที่นิยมเลือกติดตั้งในบ้านที่อยู่อาศัย โดยมีสวิตช์ควบคุมวงจรไฟฟ้าย่อย ซึ่งมีวงจรตัดไฟ หรือ Circuit Breaker ติดอยู่หลายตัว ในบางอาคารก็ใช้ตู้ LP ควบคุมแทนตู้ SDB
ส่วนประกอบต่าง ๆ ของตู้ไฟฟ้า
เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) วงจรตัดไฟ เป็นสวิตช์ไฟฟ้าอัตโนมัติ ติดอยู่ในตู้ไฟฟ้าหรือตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ทำหน้าที่ตัดไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร การใช้ไฟฟ้าเกิน ไฟรั่ว และไฟดูด ซึ่งเซอร์กิตเบรกเกอร์แบ่งประเภทการใช้งานตามแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ต่ำ กลาง สูง ดังนี้
– Low Voltage เบรกเกอร์ แรงดันไฟฟ้าต่ำ น้อยกว่า 1,000 VAC มีทั้ง MCB, MCCB, RCD และ ACB เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม มักติดตั้งในตู้ไฟฟ้าแบบ MDB และตู้ Load Center
– Medium Voltage เบรกเกอร์ แรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 1 – 72 kV AC เหมาะสำหรับใช้ในอาคาร แยกเป็นชิ้นส่วนติดตั้งภายนอกในสถานีย่อย เช่น ACB, Oil-filled Circuit Breaker และ Vacuum Circuit Breakers มีเซ็นเซอร์กระแสสลับและรีเลย์ เพื่อป้องกันฃการใช้เซ็นเซอร์วัดความร้อนหรือแม่เหล็กในตัว
– High Voltage เบรกเกอร์ แรงดันไฟฟ้า 72.5 kV AC หรือสูงกว่า ทำงานด้วยขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีรีเลย์ตรวจจับกระแสไฟที่ทำงานผ่านหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า ชุดรีเลย์จะช่วยป้องกันอุปกรณ์จากโหลดเกินหรือไฟรั่วลงดินได้ เช่น Solenoid Circuit Breaker
ตู้ไฟฟ้า
ไฟแสดงสถานะ (Pilot Lamp) ติดตั้งที่ตู้ควบคุมไฟฟ้า บ่งบอกสถานะการทำงานและแจ้งเตือนเมื่อเกิดข้อผิดพลาดในระบบ
Overload Relay อุปกรณ์ป้องกันความเสียหายจากมอเตอร์ มีหน้าที่ตัดวงจรไฟฟ้า ป้องกันแบตเตอรี่เสียหาย มักติดตั้งคู่กับอุปกรณ์ตัดต่อวงจรไฟฟ้า เพื่อเปิด-ปิด หน้าสัมผัสในการตัดต่อวงจรไฟฟ้า (Magnetic Contactor) อุปกรณ์นี้จึงความสำคัญ หากมอเตอร์ทำงานหนักเกินไปจนเกิดความร้อนสูงขึ้น เบรกเกอร์หรือฟิวส์จะไม่สามารถป้องกันส่วนนี้ได้
ข้อควรรู้ก่อนเลือกติดตั้งตู้ไฟฟ้า
- ตรวจสอบขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าหน่วยวัดการใช้ไฟฟ้า (kW/Hours Meter) ว่าเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าทั้งบ้านหรือไม่ เช่น มิเตอร์สำหรับบ้านพักอาศัยโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 5(15)A เพื่อรองรับกระแสไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม
- ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าสัมพันธ์กับขนาดเซอร์กิตเบรกเกอร์ ที่ต้องเลือกใช้งานในขนาดที่เหมาะสม เพื่อสามารถตัดวงจรไฟฟ้าได้อย่างทันเวลา
- ควรเลือกตู้ไฟฟ้าให้ครอบคลุมความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยพิจารณาจากจำนวนวงจรย่อย ตำแหน่งการใช้งาน หรือแบ่งตามโหลดใช้งาน หากเป็นบ้านพักทั่วไปมักจะใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 6 – 10 ช่องขึ้นไป และควรเผื่อไว้ 1-2 วงจรสำหรับโหลดในอนาคต
บริการซ่อมบำรุงอาคาร: เจาะลึกเรื่อง ‘ตู้ไฟฟ้า’ เพื่อระบบไฟฟ้าในบ้านที่ปลอดภัย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/