ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลแบบไหนคือ น้ำตาลทรายแดง กันแน่?  (อ่าน 195 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ rezrezmore

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 757
  • พอยท์: 100
    • ดูรายละเอียด
น้ำตาลแบบไหนคือ “น้ำตาลทรายแดง” กันแน่?

น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายสีทอง น้ำตาลทรายสีรำ น้ำตาลโอวทึ้ง น้ำตาลอ้อย น้ำตาลรำ



  สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ผู้เขียนมีบทความที่จะช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ “น้ำตาลทรายแดง” มาแบ่งปันให้ผู้อ่านทุกท่านกันนะครับ

  ผู้เขียนได้ทดลองสอบถามเพื่อนๆของผู้เขียนเกี่ยวกับน้ำตาลทรายแดงมาแล้วหลายคน ว่าเวลาพูดถึงน้ำตาลทรายแดงแต่ละคนคิดถึงน้ำตาลแบบไหน สรุปคือได้คำตอบเป็น 2 คำตอบที่ต่างกันอย่างชัดเจน คำตอบแรกที่ได้คือน้ำตาลที่มีเกล็ดใหญ่คล้ายๆน้ำตาลทรายขาวแต่สีจะออกไปทางตุ่นๆสีนำ้ตาลมากกว่า กับคำตอบที่ 2 คือน้ำตาลที่กินกับเฉาก๊วย

  ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องนั้นก็คือ… น้ำตาลทั้ง 2 ชนิดเรียกว่า “น้ำตาลทรายแดง” ทั้งคู่ !!! อ้าว…แล้วเราแยกกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเวลาต้องไปหาซื้อ?

  จากที่ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนถึงเรียนน้ำตาลทรายสีน้ำตาลว่าน้ำตาลทรายแดง จึงได้ไปสอบถามกับคุณครูสอนภาษาไทยท่านหนึ่ง และได้คำตอบว่า จริงๆแล้วคำว่าแดงนั้นอาจไม่ได้หมายถึงสีแดงแบบที่เราเข้าใจกันแบบตรงๆ แต่เป็นการเรียกเพื่อขยายให้รู้ว่าเป็นน้ำตาลที่มีลักษณะสีเข้ม นี่อาจเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่น้ำตาลทั้ง 2 แบบต่างถูกเรียกว่า “น้ำตาลทรายแดง” แต่ถ้าเราสังเกตุน้ำตาลที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต น้ำตาลที่กินกับเฉาก๊วยจะถูกกำกับไว้ว่าคือน้ำตาลทรายแดง แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไป น้ำตาลทั้ง2แบบถูกเรียกว่าน้ำตาลทรายแดงเหมือนกัน

  น้ำตาลทั้ง 2 ประเภทมีข้อแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจน ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้ผู้อ่านแยกแยะน้ำตาลทั้ง 2 ประเภทตามลักษณะเฉพาะและจุดประสงค์การนำไปใช้จะสามารถแยกแยะได้ชัดเจนมากกว่า



  น้ำตาลทรายแดงแบบแรกที่มีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายน้ำตาลทรายขาวแต่มีสีออกน้ำตาลตุ่นๆ อาจถูกเรียกว่า น้ำตาลทรายสีทอง น้ำตาลทรายสีรำ Gold Sugar หรือ Natural Cane Sugar น้ำตาลชนิดนี้คือน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยเหมือนน้ำตาลทรายขาว แต่ผ่านขั้นตอนการถูกทำให้บริสุทธิ์แค่บางส่วน ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการกรองอย่างละเอียดเท่าน้ำตาลทรายขาว ทำให้ยังมีสิ่งเจือปนจากน้ำอ้อยอยู่ มีค่าความเป็นธรรมชาติและค่าสีที่สูงกว่าน้ำตาลทรายขาว แต่ค่าความหวานจะเข้มข้นน้อยกว่าน้ำตาลทรายขาวทำให้มีรสชาติหวานน้อยกว่า เมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายแดงชนิดที่กินกับเฉาก๊วย(โอวทึ้ง) กลิ่นจะแรงน้อยกว่า เกล็ดน้ำตาลโดยทั่วไปจะมีความใหญ่กว่า และมีความชื้นในน้ำตาลน้อยกว่าโอวทึ้ง น้ำตาลทรายแดงชนิดนี้ นิยมนำไปใช้ในการปรุงอาหารทั่วไป ใช้ทำเครื่องดื่มชงต่างๆ ขนมไทย น้ำเต้าหู้ เชื่อมผลไม้ หรือใช้แทนน้ำตาลทรายขาว



  น้ำตาลทรายแดงแบบที่2 หรือที่เรียกว่า “โอวทึ้ง” และมีการเรียกไปชื่ออื่นๆอีกเช่น น้ำตาลอ้อย น้ำตาลรำ Brown Sugar โดยลักษณะมีความเป็นผงละเอียดคล้ายทรายละเอียด มีความชื้นในตัวน้ำตาลมากบางครั้งอาจจับเป็นก้อน มีทั้งแบบสีน้ำตาลอ่อนและสีน้ำตาลเข้ม ผลิตมาจากอ้อยเช่นเดียวกับน้ำตาลทรายขาว แต่ผ่านขั้นตอนการทำให้บริสุทธิ์น้อยกว่า ผ่านการปั่นให้เป็นผงหยาบแทนการปั่นให้เป็นผลึก มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสชาติหวานกลมกล่อม มีค่าความเป็นธรรมชาติและค่าสีสูง ด้วยรสชาติ สัมผัส กลิ่น สี ที่มีความเฉพาะตัวจึงมักถูกนำไปใช้ในอาหารที่ต้องการความหอมและสีของโอวทึ้ง เช่น เฉาก๊วย คุกกี้นิ่ม บราวนี่ ใช้ต้มกับไข่มุกสำหรับชานมไข่มุก โรยหน้าขนมหวานและเครื่องดื่ม เต้าฮวยน้ำขิง

  นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลที่หน้าตาเหมือนน้ำตาลทรายแดงแบบเกล็ดที่เป็นการเคลือบคาราเมลบนน้ำตาลทรายขาวอีกด้วย ก็จะได้ความหวานของน้ำตาลทรายขาวและความหอมของคาราเมล



จบแล้วครับสำหรับบทความเกี่ยวกับน้ำตาลทรายแดง บทความหน้าจะนำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตาลและอาหารอะไรมาแบ่งปันกันอีกโปรดติดตามนะครับ ขอบคุณครับ