ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลสุขภาพ: แผลเพ็ปติก (Peptic ulcer)  (อ่าน 46 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3,394
  • พอยท์: 100
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล์
ข้อมูลสุขภาพ: แผลเพ็ปติก (Peptic ulcer)
« เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2023, 15:21:03 »
แผลเพ็ปติก* หมายถึง แผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (stomach) ซึ่งเรียกว่า โรคแผลกระเพาะอาหาร หรือแผลจียู (gastric ulcer/GU) หรือแผลที่เยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ซึ่งเรียกว่า โรคแผลลำไส้เล็กส่วนต้น หรือแผลดียู (duodenal ulcer/DU)

แผลเพ็ปติกเป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณร้อยละ10-20 ของคนทั่วไปจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

แผลลำไส้เล็กส่วนต้น (ดียู) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-4 เท่า และพบมากในช่วงอายุประมาณ 30-55 ปี ขณะที่แผลกระเพาะอาหารพบในผู้ชายพอ ๆ กับผู้หญิง และพบในช่วงอายุประมาณ 55-70 ปี แต่ทั้ง 2 โรคนี้ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย

*เดิมนิยมเรียกว่า โรคกระเพาะ โดยวินิจฉัยจากอาการแสดง คือ ปวดท้องตรงยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่เกิดก่อนหรือหลังอาหาร (หิวแสบ-อิ่มจุก) เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันพบว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่จำเพาะว่าเกิดจากแผลเพ็ปติกเสมอไป ต้องอาศัยการตรวจโดยการใช้กล้องส่อง หรือเอกซเรย์โดยการกลืนแป้งแบเรียม จึงจะแยกสาเหตุได้ชัดเจน ดังนั้น คำว่า "โรคกระเพาะ" จึงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "อาหารไม่ย่อย" ในที่นี้จึงขอใช้คำว่า "แผลเพ็ปติก" ในการเรียกชื่อโรคแผลกระเพาะอาหาร และแผลลำไส้เล็กส่วนต้น


สาเหตุ

แผลเพ็ปติก เกิดจากความเสียสมดุลระหว่างปริมาณกรดที่หลั่งในกระเพาะอาหาร กับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้  ถ้าหากมีการหลั่งกรดมากเกิน หรือความต้านทานต่อกรดลดลงก็ทำให้เกิดแผลเพ็ปติกขึ้นได้ ในปัจจุบันพบว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลเพ็ปติกได้แก่

1. การติดเชื้อเอชไพโลโร (H.pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ เชื้อนี้สามารถติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ แล้วเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะอาหาร ในระยะแรกอาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งจะเป็นเรื้อรังนานเป็นแรมปีหรือนับเป็นสิบ ๆ ปี ต่อมาทำให้กลายเป็นแผลลำไส้เล็กส่วนต้น (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ถึงร้อยละ 95-100) หรือแผลกระเพาะอาหาร (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ถึงร้อยละ 75-85)

ในการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยแผลเพ็ปติกด้วยการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ พบว่า การรักษาโรคแผลเพ็ปติกโดยวิธีดั้งเดิม (ให้ยาลดกรดและยาลดการสร้างกรด) นั้น ผู้ป่วยจะมีแผลกำเริบถึงร้อยละ 70-85 ใน 1 ปี แต่ในกลุ่มที่ได้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อเอชไพโลไรตามวิธีการรักษาแนวใหม่จะมีแผลกำเริบน้อยกว่าร้อยละ 5 ใน 1 ปี ดังนั้น ในวงการแพทย์ปัจจุบันจึงยอมรับว่า เชื้อนี้เป็นตัวการสำคัญของโรคแผลเพ็ปติกถึงแม้จะยังไม่มีความชัดเจนในกลไกของการทำให้เกิดแผลเพ็ปติกจากเชื้อนี้ก็ตาม บ้างสันนิษฐานว่าเชื้อชนิดนี้ทำให้กลไกในการต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง

2. การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ได้แก่ แอสไพริน และกลุ่มยาแก้ปวดข้อ (เช่น อินโดเมทาซิน ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน เป็นต้น) พบว่าผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำจะมีโอกาสเป็นแผลกระเพาะอาหารร้อยละ 10-30 และแผลลำไส้เล็กส่วนต้นร้อยละ 2-20 และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน (เช่น เลือดออก แผลทะลุ) มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยากลุ่มนี้ถึง 3 เท่า ประมาณร้อยละ 1-2 ของผู้ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำจะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายใน 1 ปี ทั้งนี้เพราะยากลุ่มนี้ทำลายกลไกในการต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ (โดยการยับยั้งไม่ให้กระเพาะหลั่งเมือกออกมาปกคลุมเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้) นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้บางตัวยังมีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งระคายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้โดยตรง

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเพ็ปติกจากยากลุ่มนี้ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดสูง ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้นาน ๆ ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับสตีรอยด์ ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลเพ็ปติกมาก่อน ผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรง

3. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ บางอย่างอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ แต่บางอย่างอาจไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง เช่น

    ประวัติการมีญาติพี่น้องเป็นแผลเพ็ปติก (อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์) ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นเป็น 3 เท่า
    การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสของการเป็นแผลลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้การรักษาได้ผลช้า และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น
    ผู้ที่มีเลือดกลุ่มโออาจเสี่ยงต่อการเป็นแผลลำไส้เล็กส่วนต้นมากกว่าปกติ
    ความเครียดทางอารมณ์ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าเป็นสาเหตุของการเกิดแผลเพ็ปติกโดยตรงแต่พบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เป็นแผลกำเริบได้
    แผลลำไส้เล็กส่วนต้น ยังอาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperparathyroidism ซึ่งจะมีภาวะแคลเซียมสูง และแคลเซียมกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมาก) กลุ่มอาการซอลลิงเกอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome ซึ่งเป็นเนื้องอกในตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้มีการหลั่งกรดและน้ำย่อยมากเกิน) ภาวะไตวายเรื้อรัง ตับแข็งจากพิษแอลกอฮอล์ ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น
    แอลกอฮอล์ (ซึ่งเป็นสาเหตุของกระเพาะอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน ทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร) สตีรอยด์ และกาเฟอีน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสาเหตุของแผลเพ็ปติกโดยตรง แต่ก็อาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นแผลกำเริบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเหล่านี้ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก
    อาหารทุกชนิดไม่เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดแผลเพ็ปติก แต่ถ้ากินแล้วทำให้มีอาการกำเริบ (เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้ม น้ำผลไม้) ก็ควรจะหลีกเลี่ยง



ข้อมูลสุขภาพ: แผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops