ผู้เขียน หัวข้อ: จัดบ้านอย่างไรให้ปลอดภัยกับ “เด็กวัย 1-5 ปี”  (อ่าน 56 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3,395
  • พอยท์: 100
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล์
เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็จะมีแพลนปรับปรุงบ้านกันอยู่แล้วแต่ก่อนหน้านี้ไม่มีเวลา วันนี้ผมมาเสนอไอเดียปรับปรุงบ้าน แต่ไม่ใช่เพื่อความสวยงามนะครับ แต่เพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก ซึ่งความปลอดภัยของเด็กก็มักจะเริ่มจากพื้นที่เล็กๆภายในบ้านนะครับ ดังนั้นเราจะมาจัดเตรียมพื้นที่อยู่อาศัยรอบตัวน้อง และทำความเข้าใจกันถึงข้อควรระวังต่างๆในแต่ละห้อง เพราะอันตรายอาจจะเกิดขึ้นกับลูกๆของคุณภายในบ้านได้ทุกเมื่อ..

สำหรับบทความนี้เราจะมาพูดถึงเด็กในช่วงอายุ 1-5 ปี ซึ่งจะควบระหว่างเด็กวัยเตาะแตะ (Toddler) คือช่วงอายุ 1-3 ปี ไปจนถึงเด็กก่อนวัยเรียน หรือเด็กเล็ก (Preschool age) คือ ช่วงอายุ 3-5 ปี เพราะเป็นช่วงที่เริ่มจะมีการพัฒนาทางร่างกายและสมองอย่างรวดเร็ว หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่าวัยกำลังซนนั่นแหละครับ ซึ่งในขณะเดียวกันความซนก็คือการเรียนรู้และเป็นการพัฒนาจินตนาการอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาอย่างเหมาะสมและเต็มที่ แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยเช่นกัน ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแต่ละวัยของน้องกันก่อนครับ


1.    เด็กวัยเตาะแตะ (Toddler) ช่วงอายุ 1-3 ปี

เด็กในวัยนี้จะอยู่ในช่วงอายุ 1-3 ขวบ เป็นช่วงอายุที่โตขึ้นมากกว่าเด็กทารก (Infant) (ซึ่งจะมีอายุในช่วง 1-12 เดือนแรก) โดยธรรมชาติแล้วเดือนหลัง ๆ น้อง ๆ ก็จะเริ่มยืน เดินและคลานเองได้แล้ว ทำให้พอโตขึ้นสู่วัยเตาะแตะก็จะเริ่มมีความชำนาญมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือน้องจะเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น เริ่มบังคับยากขึ้นบ้างแล้ว เป็นวัยที่เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง รวมไปถึงอารมณ์อย่างรวดเร็ว เริ่มต้นของวัยนี้ทางร่างกายจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้สามารถปีนป่ายได้คล่องขึ้น โยนรับลูกบอล หรือกระโดดได้ และในช่วง 2-3 ขวบ เด็กจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กอื่นๆ ที่ช่วยให้สามารถใช้มือและแขนได้ดีขึ้น เช่น เริ่มมีการขีดเขียนวาดรูประบายสี ใช้ช้อนส้อมทานอาหารด้วยตัวเอง ส่วนสมองของเด็กจะเติบโตมากขึ้น สามารถเรียนรู้เรื่องซับซ้อนได้มากขึ้น จึงเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นวัยที่สมองของเด็กพัฒนาได้มากที่สุดและเร็วที่สุดกว่าช่วงอื่นๆในชีวิต ดังนั้นเราควรให้น้องได้เล่น ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ แต่ที่สำคัญจะต้องปลอดภัยด้วยนะครับ


2.    เด็กก่อนวัยเรียน หรือเด็กเล็ก (Preschool age) ช่วงอายุ 3-5 ปี

เด็กในวัย 3-5 ปีนี้ ก็จะพัฒนาขึ้นจากวัยเตาะแตะขึ้นมา สามารถควบคุมอารมณ์และมีทักษะทางด้านร่างกายที่ดีขึ้นจากเดิม เช่น ความคล่องในการเดิน กระโดด วิ่ง ในส่วนพัฒนาการของสมองจะเป็นวัยที่มีจินตนาการสูงในการเรียนรู้และอยากลองทำสิ่งใหม่ๆ ชอบพูดคุยและซักถามในทุกๆเรื่อง รวมถึงมีสัมพันธ์และเล่นกับเด็กคนอื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะให้น้องได้ใช้จินตนาการและการเรียนรู้ที่เหมาะสมอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ยิ่งต้องทำสถานที่รอบตัวน้องให้ปลอดภัยเลยล่ะครับ


งั้นเรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่าแต่ละห้องภายในบ้าน เราจะจัดให้ปลอดภัยต่อลูกน้อยของเราอย่างไรได้บ้าง


ห้องนั่งเล่น

เป็นห้องที่น้องน่าจะใช้เวลาในพื้นที่นี้เยอะเป็นอันดับต้นๆเลย เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็ทำกิจกรรมอื่นๆร่วมไปด้วยได้ เช่นดูทีวี ทำงานบ้าน รวมถึงมีพื้นที่กว้างเพื่อให้น้องเล่นและเรียนรู้ได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องใส่ใจในแต่ละรายละเอียดของห้องกันหน่อยนะครับ

-    จัดห้องให้โล่งกว้างให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพราะแสงธรรมชาติดีต่อร่างกายมากที่สุด รวมถึงส่งเสริมจินตนาการของเด็กด้วย แต่ก็ไม่ควรให้เด็กเข้าใกล้หน้าต่างนะครับ ควรจัดเฟอร์นิเจอร์ให้เด็กไม่อยู่ใกล้กับหน้าต่าง เช่น วางตู้บังไว้
-    เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีเหลี่ยมมุมแหลมคม หากมีก็ควรหาวัสดุผ้ามาห่อหุ้มไว้ เพื่อป้องกันการ และจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ปลอดภัย เช่นวางโต๊ะหรือชั้นวางต่าง ๆ ชิดผนัง
-    ชั้นวางของและตู้ที่อยู่ตามผนังควรมีตัวยึดกับผนังให้มั่นคงแข็งแรง หรือ Built-in ไปเลย เพราะเมื่อเด็กเริ่มคลานได้คล่อง เขาจะเริ่มจับยึดจับเพื่อพยุงตัวเองให้ยืนและเดิน จึงอาจจะทำให้ตู้หรือชั้นวางของหล่นทับลงมาได้ รวมถึงไม่ควรวางวัตถุที่มีน้ำหนักมากตามชั้นวาง หรือบนโต๊ะด้วยเช่นกัน
-    TV ก็ควรใช้เป็นแบบแขวนผนังเพื่อที่จะไม่สามารถเอื้อมถึง เพราะจะเสี่ยงต่อการล้มมาทับตัวเด็ก
-    วางคอกล้อมเคลื่อนที่ได้เพื่อให้เด็กเล็กเล่นหรือคลานภายใน (Playpen) สำหรับจำกัดพื้นที่ในการคลานเล่นของลูก ให้อยู่ในสายตาและปลอดภัยได้
-    ควรเลือกใช้พัดลมแบบไม่เป็นใบพัด (ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท) หรือถ้าเป็นใบพัดก็ไม่ควรมีร่องกว้างเกินไป หรือใช้ตาข่ายครอบพัดลม (ราคาหลักสิบ ไม่เกินหนึ่งร้อยบาทครับ) ถ้าหากเลือกใช้พัดลมไม่ได้ก็ไม่ควรให้ลูกเข้าใกล้พัดลม หรือตั้งในจุดที่สูงเพื่อให้ลูกไม่สามารถเข้าใกล้ได้ครับ
-    ไม่ควรเปิดประตูห้องต่าง ๆ ทิ้งเอาไว้ เพราะเด็กอาจจะเข้าไปและปิด หรือหนีบนิ้ว รวมไปถึงหายไปจากระยะสายตาของพ่อแม่


ห้องนอน

เป็นอีกห้องที่ใช้เวลาในส่วนนี้เยอะแน่นอนครับ เพราะต้องพักผ่อน เปลี่ยนเสื้อผ้า รวมถึงทานนมและอาหารด้วยซ้ำไป ในส่วนนี้จะมีพวกเรื่องของการจัดพื้นที่สำหรับพักผ่อน จัดบรรยากาศภายในห้อง และเลือกผ้าห่มและหมอนครับ

    จัดห้องนอนน้องให้อากาศถ่ายเทและหมั่นทำความสะอาดบ่อย ๆ เพื่อไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรีย
    เด็กควรได้นอนในเปลหรือบนเตียงส่วนตัว (แยกเตียงกับพ่อแม่) เพราะพ่อและแม่อาจทับเด็กบนเตียงได้โดยไม่รู้ตัว
    เลือกเตียงที่เหมาะสม เช่น ทำจากวัสดุที่แข็งแรง, ราวกันตกต้องยึดแน่นและมีซี่ราวแนวตั้ง ไม่ใช่แนวนอน และไม่ควรห่างกันเกิน 15 เซนติเมตร,  เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียงและไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก, มุมเสาทั้ง 4 มุมควรเรียบ ไม่มีส่วนนูน
    ควรหลีกเลี่ยงการใช้หมอนหรือผ้าห่มที่หนาเกินไป เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ปากและจมูกของเด็ก อาจจะทำให้หายใจลำบาก หรือแม้แต่หายใจไม่ออกได้
    ไม่ควรติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่เป่าลงที่นอนของน้องโดยตรง เพราะเสี่ยงต่อภาวะหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นหวัด น้ำมูกไหล ไข้ อีกทั้งยังควรตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้พอดีไม่เย็นจนเกินไป โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมของลูกๆ ควรอยู่ที่ 25-27 องศาเซลเซียส ไม่เย็นเกินไปและช่วยประหยัดด้วยครับ


ห้องน้ำ

จริง ๆ แล้วห้องนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ควรให้น้องอยู่ตามลำพัง เพราะมีความอันตรายสูง ทั้งสามารถลื่นได้ง่าย ไหนสำลักและจมน้ำได้ รวมถึงเป็นห้องที่สะสมเชื้อโรคและแบคทีเรียได้ง่ายด้วย

    ควรจัดส่วนแห้งและส่วนเปียกให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการลื่น
    พื้นห้องน้ำต้องไม่ลื่น จะด้วยวัสดุปูพื้นหรือใช้พรมกันลื่นในห้องน้ำก็ได้
    ถอดปลั๊กและเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในห้องน้ำให้พ้นมือเด็ก และปิดฝากันน้ำให้เรียบร้อย
    เก็บพวกน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ให้มิดชิดและไกลมือเด็ก


ห้องครัว

เป็นอีกห้องที่ไม่ควรให้เด็กเข้ามาโดยลำพังครับ เพราะมีทั้งของมีคม ความร้อน และสิ่งสกปรกเยอะ หรือแม้กระทั่งการเปิดฝาตู้ต่างๆทิ้งไว้ก็อาจหนีบมือเด็กได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีวิธีและเกร็ดความรู้เล็กๆในการใช้งานห้องครัวพร้อมกับเด็กเล็กให้ทราบกันครับ ลองชมกันดู

-    หาที่ปิดมากั้นทางเข้าห้องครัว เพื่อไม่ให้เด็กเข้ามาเล่นโดยพลการ
-    เก็บของมีคมต่างๆ และอุปกรณ์ทำความสะอาดให้พ้นมือเด็ก
-    จัดเก็บจานชามที่สามารถแตกได้ให้พ้นมือเด็ก หรือจะเปลี่ยนเป็นวัสดุอื่น เช่น พลาสติก ก็ยิ่งดีครับ
-    ดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อใช้งานเสร็จ
-    เมื่อประกอบอาหารให้พยายามหันด้ามที่จับหม้อหรือกระทะเข้าหากำแพงในช่วงที่ไม่ได้จับ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอื้อมมาจับหรือปัด
-    ควรใช้เป็นเตาไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเปิดปิดเตาแก๊สของเด็ก แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็นเตาแก๊สให้พยายามหาตัวครอบที่หมุนเปิดเตาแก๊ส (ราคาประมาณหลักสิบ ไม่เกินหนึ่งร้อยบาทครับ) หรือฝาครอบเตาแก๊ส (ราคาประมาณ 500-3,000 บาท)
-    เลือกใช้เตาไฟฟ้าตัวด้านใน (ชิดผนัง) เพื่อให้ไกลจากมือเด็ก

บันไดและประตูหน้าต่าง

รายละเอียดต่างๆภายในบ้านครับ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อยเลย เพราะเราก็ทราบกันถึงอันตรายในแต่ละส่วนกันอยู่แล้ว ดังนั้นอย่างแรกเลยคือไม่ควรพาเด็กไปเล่นใกล้บริเวณบันได ประตู และหน้าต่าง หรืออย่าปล่อยเด็กอยู่ต่างเพียงลำพัง และควรตรวจเช็คและล็อคหน้าต่างเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กออกไปได้ แถมยังกันขโมยเข้ามาด้วยนะครับ แต่นอกจากนั้นก็มีขั้นตอนอื่นๆในการจัดการเพื่อความปลอดภัยดังนี้ครับ…

    ติดตั้งที่กั้นขวางทางขึ้นลงบันได เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเดินตกลงมา ให้จำไว้ว่าบันไดหรือพื้นต่างระดับอันตรายต่อเด็กเสมอ
    ติดตั้งเหล็กดัด, กรงเหล็ก หรือบานเกล็ด ป้องกันเพื่อไม่ให้ลูกหล่นออกไปได้

เชื่อว่าคงมีหลาย ๆ จุดเลยที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะลืมหรือมองข้ามไปบ้าง ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่าทุกคนต้องการให้เกิดความปลอดภัยกับลูกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้… ผมหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนในการช่วยดูแลความปลอดภัยของน้อง ๆ ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ


จัดบ้านอย่างไรให้ปลอดภัยกับ “เด็กวัย 1-5 ปี” อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://techwealth99.com/