ไขปัญหากับช่างแม่น พูดมาก
ตอน ทาสีให้บ้าน
สวัสดีขอรับ..สำหรับเดือนนี้ คงอืดหน่อยสำหรับคนมีอายุอย่างกระผม ช่วงนี้ ยอมรับจริงๆ ว่างานเยอะมาก ต้องขอขอบพระคุณคุณลูกค้าทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนบริษัทของเราเป็นอย่างดี พวกเราเลยต้องตั้งใจทำงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเป็นการตอบแทนความไว้วางใจที่พวกท่านมีให้กับพวกเราครับ
อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องราวใน Website พวกเราจะพยายามรวบรวมความรู้เท่าที่พวกเรามีมาแบ่งปันกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้ผู้อ่านของเราทุกคน อย่างน้อยก็ได้มีความรู้ไว้พูดคุยหรือติติงช่างได้บ้าง ไม่ใช่ว่าเราจะจ้างเขามา แล้วเขาจะทำอะไรกับบ้านของเราก็ได้ ไม่งั้นเกิดช่างมั่วขึ้นมา แทนที่จะเป็นช่างแม่น สุดท้าย เราจะลำบาก เสียเงินเสียทองซ้ำซาก แล้วยังต้องมาปวดหัวแก้ปัญหาในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ทะเลาะกับช่างมันสนุกอยู่เมื่อไรล่ะครับ จริงมั้ยครับคุณ..
สำหรับการทาสีบ้านนั้น อันที่จริง ผมก็ไม่อยากจะพูดถึง แต่ บ.ก.ของเรายอมไม่ได้ บอกว่าหาข้อมูลยากเหลือเกิน ว่าแล้วก็สั่งให้คนแก่อย่างผมมานั่งเขียนบรรยายเกี่ยวกับกรรมวิธีในการทาสีโดยละเอียด ผมมันก็คนว่าง่าย ก็เลยต้องละมือจากเรื่องที่อยากเขียน มาเขียนเรื่องนี้ซะก่อน ว่าแล้วก็ขอเริ่มต้นเลยนะครับ..แต่น แต๊น..
อันว่าการทาสีบ้านนั้น หากจะทำให้ถูกวิธี นอกจากเราจะต้องรู้จักเรื่องสีตามที่เราเคยคุยกันไว้ในคราวที่แล้ว เรายังจะต้องรู้จักขั้นตอนและเทคนิคต่างๆ ในการทาสีอีกด้วย เริ่มกันตั้งแต่การเตรียมพื้นผิวเลยดีกว่านะครับ
พื้นผิวที่ดีและเหมาะสมกับการทาสี จำเป็นที่จะต้องเรียบ เนียน สะอาด ปราศจากฝุ่น หากมีรู มีร่อง
มีรอยอะไรก็แล้วแต่ เราก็ควรจะจัดการอุด ปะ และขัดซะให้เรียบร้อย เพราะสีก็เป็นแค่เนื้อฟิลม์บางๆ หากพื้นที่ที่ทาสี มีฝุ่น มีหลุม หรือมีร่อง ทาสีเสร็จ ก็จะเห็นชัด ดังนั้น หากต้องการงานทาสีที่เรียบเนียน สวย เราก็ควรจะเตรียมพื้นผิวให้ดีเสียก่อนนะครับ
ขั้นตอนแรกของการเตรียมพื้นผิว เราจะต้องเริ่มกันที่การขัดผิวก่อนนะครับ การขัดผิวนั้นเป็นหัวใจสำคัญของงานทาสีที่มีคุณภาพ เพราะจะช่วยให้พื้นผิวของเราเพิ่มขีดความสามารถในการยึดเกาะสีได้ดี แต่อย่าลืมใส่หน้ากากกรองฝุ่นสักหน่อยนะครับ จะได้ไม่หายใจเอาฝุ่นเข้าไปในปอดสวยๆ ของเรา
นอกจากนี้ บางทีช่างที่มีฝีมือดีๆ เขามักจะล้างผนังกันซะรอบหนึ่งแล้วปล่อยให้แห้งสนิทก่อนลงมือทาสี ซึ่งเหตุผลของการล้างผนังนั้นคือเพื่อล้างฝุ่นที่มักเกาะอยู่ตามผนังให้หลุดออกให้หมดเสียก่อน โดยขั้นตอนของการล้างผนัง ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ใช้น้ำสบู่อ่อนๆ ล้างผนังให้ทั่ว จากนั้นค่อยล้างด้วยน้ำเปล่าอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็รอให้แห้ง (โดยปกติ ก็ประมาณ 1 วัน ดังนั้น เราจึงควรบวกเวลาเตรียมพื้นผิวในระยะเวลาทำงานเผื่อไปด้วยนะครับ)
สำหรับผนังหรือเพดานที่มีสีเดิมทาทับอยู่แล้ว ให้ดูว่าสีเก่านั้นหมดอายุหรือยัง หากยังติดแน่นทนทานดีอยู่ เราก็ขัดด้วยกระดาษทรายสักรอบหนึ่ง ก่อนที่จะล้างทำความสะอาด แล้วรอให้ผนังแห้ง แต่ถ้าสีหมดอายุแล้ว งานนี้ คงต้องหาลูกมือมาคอยช่วย เพราะสีเก่าจะเป็นฝุ่น ดังนั้น เราจึงต้องทำการล้างเอาฝุ่นสีเก่านั้น ออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วทำการหาสีรองพื้นปูนเก่า Bager B-11090 หรือน้ำยารองพื้นสีปูนทับสีเก่า TOA Supershield Duraclean เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการ ยึดเกาะของสี ก่อนที่จะทาสีจริงทับ อันนี้จำเป็นมากๆ เลยนะครับ
ส่วนผนังที่เคยติด Wallpaper มาแล้ว ขั้นตอนก็จำเป็นต้องใช้แรงงานมากขึ้นไปอีก เพราะต้องลอก Wallpaper เก่าพร้อมด้วยคราบกาวทุกชนิดออกให้หมด จากนั้นจึงเริ่มขั้นตอนการเตรียมพื้นผิว ก่อนที่จะลงสีรองพื้นครับผม
ภายหลังจากที่เรารอผนังให้แห้งแล้ว เราก็จะเริ่มทำการทาสีรองพื้นกันซัก 1-2 เที่ยวเสียก่อน โดยผมเคยอธิบายไปแล้วว่าเจ้าสีรองพื้นนี้มีข้อดีอย่างไรบ้าง เพียงแต่เราจะต้องเลือกสีรองพื้นให้ถูกชนิดจะช่วยให้เราประหยัดสีจริงได้มากเลยทีเดียว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นผิวที่เป็นวัสดุพรุนอย่าง ยิปซั่ม แผ่น MDF หรือแม้กระทั่งแผ่น Viva board หากเราไม่ทาสีรองพื้นสำหรับวัสดุพวกนี้ เราจะต้องจ่ายค่าสีเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เท่าตัวเลยทีเดียวครับ)
ขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งก่อนการลงมือทาสี คือเราควรจะทำการป้องกันส่วนที่เราไม่ต้องการให้สีเปื้อน ยกตัวอย่างเช่น โคมไฟ บัวพื้น บัวเพดาน หรือกรอบประตูหน้าต่าง ให้มิดชิดด้วยกระดาษกาวและกระดาษหนังสือพิมพ์ และเราควรระวังกระดาษกาวคุณภาพต่ำ หรือเสื่อมคุณภาพ เพราะแทนที่จะช่วยป้องกันสีเลอะ กลับจะดูดสีของส่วนอื่นๆ ให้หลุดออกมา เดือดร้อนเราต้องตามเก็บสีในภายหลังอีก สำหรับกระดาษกาวที่ผมแนะนำ จะเป็นของญี่ปุ่นนะครับ ยี่ห้อนิตโต้ ม้วนหนึ่งตกประมาณ 35 – 40 บาท อาจจะดูแพงไปสักหน่อย (เพราะต้องซื้อหลายม้วน ในกรณีที่มีพื้นที่เยอะๆ) แต่คุ้มกว่ามากครับ และในแนวที่มีการเปลี่ยนสี เช่นสีของผนังกับสีของฝ้าเพดาน เราก็จะสามารถใช้กระดาษกาวกับกระดาษหนังสือพิมพ์ในการกันแนวรอยต่อได้ด้วย พอทาสีฝ้าเพดานเสร็จ เราก็จะกันไม่ให้สีผนังไปเลอะส่วนฝ้าเพดาน พอลอกกระดาษออก รอยต่อก็จะเรียบและคมแบบมืออาชีพเลยครับ..
ต่อไปเป็นขั้นตอนการทาสีจริงละครับ ในการทาสีจริง เราจำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่าเราจะทาอะไรบ้าง แล้วจึงจัดลำดับการทาให้ถูกต้อง โดยปกติแล้ว เราจะทาสีฝ้าเพดานก่อนแล้วค่อยทาสีผนัง จากนั้นถึงจะทาสีส่วนประตูและหน้าต่างพร้อมทั้งส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ ครับ ถ้าจะให้จำง่ายๆ คือทาพื้นผิวส่วนใหญ่ที่อยู่ข้างบนก่อน แล้วค่อยไล่ลงมาข้างล่าง จากนั้นจึงเก็บรายละเอียดของงาน (ดูจากภาพประกอบ)
ในการทาสี ถ้าเราต้องการให้สีเรียบเนียนสวย เราจะเริ่มทาจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง (อันนี้แล้วแต่ถนัดนะครับ) ทีละผนังจนครบทั้งห้อง โดยให้แนวของแปรงขนานกันไปเรื่อยๆ
จนครบเต็มผนัง อย่าหยุดหรือพักทาสีขณะที่อยู่แนวกลางผนัง พยายามทาให้เสร็จไปเป็นผนังๆ ไป เพื่อป้องกันสีแห้งตัวไม่เท่ากัน และอาจจะเกิดอาการสีด่างได้
หลังจากทาสีไปแล้ว ก็ให้รอสีแห้งตัวตามที่ระบุไว้ในคู่มือของสีแต่ละยี่ห้อ โดยการแห้งตัวของสีแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือแห้งแบบแตะได้ กับแห้งแบบทาสีทับได้ การแห้งแบบแตะได้ เป็นการแห้งเฉพาะผิวหน้าเท่านั้น ส่วนการแห้งแบบทาสีทับได้ จะแห้งสนิทกว่า โดยมากแล้วจะกินเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครับ หลังจากนั้น เราจึงจะทาสีทับไปอีกทีละชั้น (ปกติ เราจะทา ประมาณ 2-3 เที่ยว) จนกว่าสีจะ “ขึ้น” หรือจนกว่าเราจะได้สีที่เรียบเนียนสวย ปิดทับสีเดิมของพื้นผิวได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าสียังไม่ขึ้น แสดงว่าเราอาจจะทาสีบางเกินไป หรือผสมตัวทำละลายมากเกินไปก็ได้ ให้ลองตรวจดูส่วนผสมใหม่อีกครั้งนะครับ
ภายหลังจากที่สีแห้งแล้ว สีจะดูขาวขึ้นกว่าตอนที่ทาเสร็จใหม่ๆ ที่เป็นแบบนี้ เป็นเพราะน้ำหรือสารละลายในสีได้ระเหยออกไป ซึ่งสีสุดท้ายที่ได้ตอนที่แห้งแล้ว ควรจะตรงกับสีที่เราเลือกไว้นะครับ เพราะฉนั้นอย่าตกใจที่เวลาทาสีแล้ว สีจะดูเข้มกว่าที่เราเลือก เพราะสุดท้าย มันจะกลับมาเป็นอย่างที่เราต้องการครับ
หากเราทาสีไม่เสร็จ และต้องทำต่อในวันถัดไป ให้เราเก็บสีที่เหลือไว้ในกระป๋อง ปิดฝาให้สนิท ไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปได้อีก และทางที่ดีควรจะกลับกระป๋องคว่ำลงสัก 2-3 วินาที เพื่อให้สีบางส่วนไปเคลือบที่ฝา จะช่วยแก้ปัญหาสีแห้งตัวเป็นแผ่นฟิลม์ได้ครับ..แน่ะ..เคล็ดลับเชียวนะครับนี่..
ในการทาสี บางครั้ง เราซื้อสีมาเป็นถังใหญ่ การที่เราจะเปิดฝาถังทิ้งไว้คงไม่ดีแน่ ดังนั้นช่างสีจึงมักจะหากระป๋องเล็กๆ มาแบ่งใส่สีไว้ตามปริมาณที่ต้องการใช้ พอหมดแล้วค่อยไปเทมาเพิ่ม จะช่วยป้องกันสีในถังแข็งตัวก่อนการใช้งานได้เป็นอย่างดีครับ อ้อ..แล้วเรื่องสีแข็งตัวนี่ ยังมีที่ควรระวังอีกนะครับ คือสีที่เหลือจากการใช้งาน เราจะเทลงท่อระบายน้ำ หรือท่อน้ำทิ้งไม่ได้เด็ดขาด!!!! ย้ำๆๆๆๆๆ ห้ามเทลงท่อ ไม่ว่าจะเป็นท่ออะไรก็ตาม โดยเด็ดขาดนะครับ.. เพราะสีพวกนี้ ไหลช้า และสามารถแข็งตัวได้ ดังนั้น หากท่านเทลงท่อน้ำทิ้ง ท่านก็จะต้องเสียเงินค่าทำท่อใหม่อย่างแน่นอน ขอเตือนไว้เลยนะครับ
วิธีการเทสีทิ้งให้ถูกต้อง คือเราต้องเตรียมถังใบใหญ่ พร้อมทั้งถุงขยะหนาๆ (อาจจะซ้อนสัก 2-3 ชั้นก็ได้) จากนั้น ให้ช่างเทสีส่วนที่เหลือลงในถุง ปล่อยไว้ให้แห้ง (ประมาณ 2-3 วัน) จึงค่อยมัดปากถุง แล้วค่อยนำไปทิ้งภายหลังครับ ซึ่งวิธีนี้ สามารถใช้ได้กับงานปูน งานยิปซั่ม และงานสีชนิดต่างๆ อีกด้วยนะครับ
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทาสี เราอาจจะใช้แปรงก็ได้ หรือลูกกลิ้งสำหรับทาสีก็ได้ โดยในปัจจุบัน ผมจะถนัดใช้ลูกกลิ้งในการทาพื้นที่หน้าใหญ่ซะก่อน เพราะเร็วและเรียบเนียน (ยิ่งถ้าทำตามขั้นตอนครบถ้วน จะยิ่งทายิ่งชื่นใจ เพราะความสวย) จากนั้น ผมจะเก็บส่วนเล็กๆ หรือรายละเอียดที่ลูกกลิ้งเข้าไม่ได้ด้วยแปรงอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ช่างบางคนอาจจะถนัดที่จะทาสีเก็บรายละเอียดส่วนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยแปรงซะก่อน แล้วค่อยจัดการพื้นที่หน้าใหญ่ด้วยลูกกลิ้ง ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดครับ
ในการใช้ลูกกลิ้งทาสี เราจะต้องใช้ร่วมกับ “ถาดสี” ซึ่งมีหน้าตาตามรูปนะครับ แล้วเราก็จะเทสีลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของเจ้าถาดนี่แหละ ค่อยๆ ใช้ลูกกลิ้งจุ่มลงไปในถาดแล้วหมุนจนสีติดเต็มลูกกลิ้งให้ทั่วแต่อย่าให้สีมากเกินไป มิฉะนั้น พอทาเสร็จ เราจะเห็นสีไหลย้อยเป็นแนว (แบบนั้น ต้องกลับไปที่ขั้นตอนการขัดพื้นผิวใหม่นะครับ) แล้วเวลาทาสีด้วยลูกกลิ้ง พอใกล้จะหมด เราจะนำลูกกลิ้งลงจุ่มสีใหม่ และเริ่มทาต่อที่บริเวณที่ยังไม่ลงสี แล้วค่อยๆ ทาเกลี่ยกลับมาที่แนวที่ทำค้างไว้ โดยเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สีหนาเกินไปบริเวณรอยต่อ
โดยมากแล้ว การทาสีด้วยลูกกลิ้งจะให้สีที่บางกว่าการใช้แปรง ดังนั้น เราอาจจะต้องทาสีมากครั้งขึ้นกว่าการใช้แปรง เพื่อให้สี ”ขึ้น” ก็ได้ เพราะฉนั้น อย่าเพิ่งตกใจนะครับ และการทาสีที่บาง แต่มากเที่ยวกว่า จะให้สีที่เรียบเนียนสวยกว่า การทาสีที่หนาเพียงไม่กี่เที่ยวครับ
สุดท้ายสำหรับการทาสีนะครับ เมื่อทาสีเสร็จแล้ว ให้รอให้สีแห้งสนิทเสียก่อนที่จะทำการตกแต่งในขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป (ถ้ามี) โดยมากแล้วสีน้ำพลาสติก มักจะใช้เวลาแห้งตัวประมาณ 24 ชั่วโมงครับ
เอาล่ะครับ จบกันสักที สำหรับการทาสีภายในบ้าน หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามมาได้ที่ข้างล่างนี้ หรือที่ Forum หรือจะโทรเข้ามาคุยกับเจ้าหน้าที่ของเราก็ได้นะครับ พวกเรายินดีรับใช้ทุกท่านเสมอ สำหรับเดือนนี้ ผมขอลาล่ะครับ..ขอบคุณครับ..
ช่างแม่น พูดมากๆ