สายไฟ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับระบบไฟฟ้าในอาคาร สำหรับผู้ที่คิดจะสร้างบ้านใหม่ หรือคิดที่จะปรับปรุงระบบไฟฟ้าของบ้านเดิมนั้น สิ่งที่มักเป็นคำถามประจำคือ จะเดินสายไฟฝังผนัง หรือแบบลอยดีกว่ากัน ซึ่งทั้งสองแบบนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องของรูปลักษณ์ซึ่งส่งผลต่อสไตล์การตกแต่งบ้าน การก่อสร้าง งบประมาณ และการซ่อมบำรุง
การเดินสายไฟแบบฝังผนัง เป็นการเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟ (Electrical Conduit) ที่ฝังไว้ในผนัง ซึ่งทำให้ผนังบ้านดูเรียบร้อย ไม่มีสายไฟให้เห็น แต่ก็มีขั้นตอนในการก่อสร้างที่ยุ่งยาก เพราะต้องมีการวางแผนการก่อสร้างเป็นอย่างดี การซ่อมแซมหรือเพิ่ม-ลดสายไฟทำได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญการเท่านั้น และใช้งบประมาณมากพอสมควร ส่วน
การเดินสายไฟแบบลอย สามารถทำได้ทั้งแบบเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟ และการเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ ซึ่งจะเห็นสายไฟเป็นเส้นๆ แนบไปกับผนัง การเดินสายไฟแบบลอยจะใช้งบประมาณที่น้อยกว่า และการซ่อมแซมหรือเพิ่ม-ลดสายไฟทำได้ง่ายกว่า แต่ก็ต้องคำนึงถึงการเดินสายไฟให้เป็นระเบียบสวยงาม
ภาพ: การเดินสายไฟแบบฝังผนัง จะทำให้ผนังบ้านดูเรียบร้อยไม่เห็นสายไฟ
การเดินสายไฟแบบฝังผนัง สามารถฝังได้ทั้งใน
ผนังเบา และผนังก่ออิฐ สำหรับผนังเบาเป็นผนังที่ประกอบไปด้วย
โครงคร่าว ที่มีช่องว่างภายใน สามารถเดินท่อร้อยสายไฟระหว่างโครงคร่าวได้ง่าย แต่จะต้องเดินท่อร้อยสายไฟให้เสร็จก่อนที่จะปิดแผ่นผนัง ในส่วนของผนังก่ออิฐ ไม่ว่าจะเป็นอิฐมอญ อิฐบล็อก หรืออิฐมวลเบา หากต้องการฝังท่อไว้ในผนัง จะมีความยุ่งยากมากกว่า เนื่องจากต้องทำการกรีดผนังเพื่อเดินท่อร้อยสายไฟ แล้วฉาบปิดร่องด้วยปูนฉาบ (ปูนทราย) จากนั้นติด
ลวดกรงไก่ บริเวณที่กรีดผนัง ก่อนทำการฉาบเพื่อป้องกันการแตกร้าวที่ผิวปูนฉาบในภายหลัง ข้อควรระวังคือ ไม่ควรฉาบผนังจนเรียบร้อยแล้วค่อยกรีดผนังเพื่อเดินท่อสายไฟ เพราะการฉาบทับเฉพาะผนังส่วนที่โดนกรีดมักจะทำได้ไม่เนียน และเห็นเป็นรอยปูนฉาบยาวๆ ดูไม่สวยงาม ซึ่งอาจทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในฉาบเก็บความเรียบร้อยของผนังทั้งผืนด้วยปูนฉาบบาง (สกิมโค้ท) หรือปิดทับด้วยวอลล์เปเปอร์
ภาพ: ตัวอย่างการเดินสายไฟและฝังกล่องปลั๊ก-สวิทช์ในผนังเบา
ภาพ: ตัวอย่างการเดินท่อร้อยสายไฟและฝังกล่องปลั๊ก-สวิทช์ในผนังก่ออิฐมวลเบา
การเดินสายไฟแบบฝังผนัง มักจะใช้สายไฟประเภท THW มีลักษณะเป็นสายกลม มีสีต่างๆ ภายในมีลวดทองแดงแกนเดียว ร้อยในท่อร้อยสายไฟ โดยท่อ 1 เส้นสามารถมีสายไฟได้หลายเส้นที่เป็นวงจรเดียวกัน ไม่ควรร้อยสายไฟหลายเส้นต่างวงจรกันในท่อเดียว เพื่อป้องกันความสับสนเมื่อซ่อมบำรุง
ท่อร้อยสายไฟ (Electrical Conduit) เป็นสิ่งที่จะช่วยปกป้องสายไฟ และรวบรวมสายไฟหลายๆ เส้นไว้ด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ท่อโลหะ และท่อพลาสติก การเดินสายไฟแบบฝังผนังสามารถเลือกได้ทั้งท่อโลหะ และท่อพลาสติก ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ซึ่งท่อโลหะจะแพงกว่า แต่ก็ทนทานกว่าเช่นกัน
ท่อโลหะ เป็นท่อที่ทำจากเหล็ก ชุบสังกะสี แบ่งออกเป็น 5 ชนิด มีการใช้งานที่ต่างกันดังนี้
1. ท่อโลหะขนาดบาง (EMT, Electrical Metallic Tubing) มีขนาด 1/2 - 2 นิ้ว ใช้เดินลอยภายในอาคาร หรือฝังในผนังได้ แต่ห้ามฝังดิน หรือฝังในพื้นคอนกรีต
2. ท่อโลหะขนาดกลาง (IMC, Intermediate Conduit) มีขนาด 1/2 – 4 นิ้ว ใช้เดินลอยภายนอกอาคาร หรือฝังในผนัง และพื้นคอนกรีตได้
3. ท่อหนาพิเศษ (RSC, Rigid Steel Conduit) มีขนาด 1/2 – 6 นิ้ว ใช้เดินลอยภายนอกอาคาร หรือฝังในผนัง และพื้นคอนกรีตได้ เช่นเดียวกับท่อ IMC แต่จะแข็งแรงมากกว่า
4. ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit) เป็นท่อที่มีความอ่อนตัว โค้งงอได้ เหมาะสำหรับต่อเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ดวงโคม เป็นต้น
5. ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ (Raintight Flexible Metal Conduit) เป็นท่อโลหะอ่อนที่มีเปลือก PVC หุ้มด้านนอกเพื่อกันความชื้น ใช้สำหรับต่อเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าในที่ที่มีความชื้น เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นในห้องน้ำ เป็นต้น
ท่อพลาสติก มีราคาถูกกว่าท่อโลหะ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. ท่อพีวีซี (PVC, Polyvinyl Chloride) เป็นท่อผลิตจากวัสดุ
PVC มีคุณสมบัติทนความชื้น ไม่ขึ้นสนิม ทนความร้อนได้ 60 องศา มีสองสีคือ สีเหลือง เหมาะกับการเดินท่อฝังในผนัง และสีขาว เหมาะกับการเดินท่อลอยเนื่องจากทาสีทับได้ง่าย
ภาพ: ตัวอย่างท่อร้อยสายไฟแบบพลาสติก PVC สีเหลือง
2. ท่อ HDPE (High Density Polyethylene) เป็นท่อที่มีความอ่อนตัวพอสมควร และมีความแข็งแรงสูง ใช้เดินสายภายนอกอาคาร และสายใต้ดิน
3. ท่อ EFLEX เป็นท่อที่มีลักษณะเป็นปล้องๆ มีความอ่อนตัว โค้งงอได้ คล้ายท่อโลหะอ่อน
ท่อร้อยสายไฟจะเชื่อมต่อระหว่างตู้ไฟ กล่องพัก/แยกสายไฟฟ้าที่อยู่บนเพดาน และกล่องปลั๊กไฟหรือกล่องสวิตช์ไฟ (Handy Box) โดยจะมีหัวต่อท่อสำหรับยึดท่อให้อยู่กับกล่องต่อสายไฟฟ้าในแต่ละจุด สามารถดัดโค้งไปตามจุดต่างๆ ได้ แต่หากดัดโค้ง 90 องศา ไม่ควรดัดเกิน 4 โค้งต่อท่อ 1 เส้น เนื่องจากจะร้อยสายไฟเข้าไปในท่อลำบาก
ภาพ: การเชื่อมต่อท่อร้อยสายไฟกับกล่องต่อสายไฟ
การเดินสายไฟแบบลอย สามารถทำได้ทั้งแบบเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟ และการเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ โดยการเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟแบบลอย สามารถเลือกใช้ท่อร้อยสายไฟได้ทั้งแบบโลหะ และแบบพลาสติก PVC โดยท่อโลหะจะมีความแข็งแรงทนทาน สามารถโชว์ความสวยงามของท่อได้ ส่วนท่อพลาสติกซึ่งมีราคาประหยัดกว่า แต่ควรทาสีทับท่อเพื่อความสวยงามและกลมกลืนไปกับผนัง ทั้งนี้ การเชื่อมท่อแบบเดินลอยเข้ากับกล่องปลั๊กไฟหรือกล่องสวิตช์ไฟ ต้องคำนึงถึงการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ดี เนื่องจากกล่องปลั๊กไฟและกล่องสวิตช์ไฟจะอยู่บนผนังลอยออกมาเช่นกัน
ภาพ: การเดินสายไฟแบบลอยในท่อร้อยสายไฟ ซึ่งเต้ารับไฟฟ้า หรือสวิตช์จะยื่นออกมาจากแนวผนัง
การเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การเดินสายไฟแบบเปิด คือการเดินสายไฟโดยมีเข็มขัดรัดยึดสายไฟเข้ากับผนัง หรือเพดานของอาคาร ทุกระยะประมาณ 10 ซม. ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เต้ารับ สวิตช์ ตู้ไฟหรือแผงวงจร รวมถึงดวงโคมไฟฟ้าในจุดต่างๆ สายไฟที่ใช้จะเป็นสายที่หุ้มฉนวนยาง หรือ PVC โดยทั่วไปที่ใช้ตามบ้านมักจะเป็นสาย VAF มีลักษณะเป็นสายแบนๆ สีขาว ภายในสายจะมีลวดทองแดง 2 แกนหรือ 3 แกน หุ้มด้วยฉนวน 2 ชั้น
การเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ เมื่อจำเป็นที่จะต้องหักมุมเลี้ยว จะไม่ดัดสายจนเป็นมุมฉาก เพราะจะทำให้ลวดทองแดงภายในสายหักได้ ให้ดัดสายไฟโค้งเป็นรัศมีไม่น้อยกว่า 3 เท่าของความหนาสายไฟ สำหรับจุดที่เป็นสวิตช์ หรือเต้ารับไฟฟ้า จะใช้วิธีการสกัดผนังและฝังกล่องปลั๊กไฟหรือกล่องสวิตช์ไฟเข้าไป เช่นเดียวกับการเดินสายไฟแบบฝังผนัง โดยสายไฟที่เดินมาตามผนังจะมุดเข้าไปในผนังที่ด้านข้างหรือด้านบนของกล่อง แล้วจึงต่อสายไฟเข้ากับสวิตช์หรือปลั๊กไฟ ซึ่งจะมีหน้ากากปิดหน้ากล่องอีกทีหนึ่ง
ภาพ: ตัวอย่างการเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ
การเดินสายไฟแบบตีกิ๊บนี้มีราคาถูกที่สุดในการเดินสายไฟทุกวิธี เนื่องจากไม่ต้องใช้ท่อร้อยสายไฟ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันช่างที่มีฝีมือในการเดินสายแบบตีกิ๊บก็หายากมากขึ้น เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตในการเรียงสายไฟ รีดสายไฟให้เรียบไปกับผนัง และติดตั้งระยะกิ๊บให้เป็นระเบียบ รวมถึงสายไฟก็มีโอกาสเสียหายได้มากกว่าเนื่องจากไม่มีท่อร้อยสายไฟคอยปกป้อง
โดยสรุปแล้วการเดินสายไฟแบบฝังผนังทำให้บ้านดูเรียบร้อยมากกว่า แต่ก็ต้องใช้งบประมาณที่มากกว่าเช่นกัน และยังต้องมีการออกแบบและการวางแผนการก่อสร้างที่ดี จึงจะได้งานที่สมบูรณ์และไม่ต้องแก้ไขในภายหลัง อย่างไรก็ตามการเดินสายไฟแบบเดินลอย หากเดินสายไฟหรือท่อร้อยสายไฟอย่างเป็นระเบียบ บ้านก็สามารถมีความสวยงามได้เช่นกัน โดยเฉพาะการตกแต่งบ้านสไตล์ลอฟต์ ซึ่งการซ่อมบำรุง และติดตั้งสายไฟเพิ่มเติมทำได้ง่ายกว่า
ภาพ: ตัวอย่างการตกแต่งร้านสไตล์ลอฟต์ ซึ่งเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟแบบลอย
ที่มา:
http://www.scgbuildingmaterials.com/th/LivingIdea/NewBuild/In-Wall-Wiring-VS-Surface-Wiring.aspx