ปัญหาชวนปวดหัวระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน หรืองานซ่อมแซมบ้านก็คือ การที่กลัวว่าผู้รับเหมาะจะรับเงินไปแล้วไม่มาทำงาน ส่วนในฝั่งผู้รับเหมาเองก็กลัวว่าทำงานเสร็จแล้วจะไม่ได้เงิน เจ้าของบ้านมาต่อรองราคาหลังงานเสร็จแล้วพร้อมกับพูดว่าจะเอาหรือไม่เอาเป็นต้น
จริงๆแล้วประเด็นนายจ้างเบี้ยวนั้นมีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วเจ้าของบ้านมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอนเกรงว่าถ้าไม่จ่ายแล้วจะมีปัญหาเอาได้ แต่สำหรับผู้รับเหมาแล้วมักจะตามตัวได้ยากกว่าเพราะหากทิ้งงาน ก็แค่ปิดร้านหนีแล้วไปเปิดที่ใหม่ โอกาสนี้เราจึงขอรวบรวมกลโกงของผู้รับเหมากันนะครับว่าท่านอาจจะพบเจอกับผู้รับเหมาประเภทไหนได้บ้าง
1. ผู้รับเหมาทิ้งงาน ถือเป็นปัญหาที่พบเจอกันเป็นประจำ แรกๆก็มาทำงานดี แล้วก็จะเริ่มมาเบิกเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายนายจ้างก็เห็นใจกับข้ออ้างสารพัดของผู้รับเหมา เกรงว่าถ้าไม่จ่ายออกไปเดี๋ยวเขาจะไม่กลับมาทำงาน สุดท้ายก็ไม่กลับมาทำงานจริงๆซะด้วยนะซิ
2. วัสดุก่อสร้างไม่เป็นไปตามที่ตกลง จะเป็นปัญหาสำหรับงานที่จ้างทั้งค่าแรงและค่าของ ผู้รับเหมาก็จะถือโอกาสเอาวัสดุที่มีคุณสมบัติต่ำกว่ามาให้ เพื่อเพิ่มกำไรให้กับตัวเอง และไม่ตรงกับที่ผู้ว่าจ้างกำหนดเอาไว้
3. เบิกเงินงวดล่วงหน้า ผู้รับเหมาจะมาพร้อมกับปัญหาต่างๆนาๆ เพื่อจะขอเบิกเงินล่วงหน้าออกไป เช่นบอกว่าจะเอาเงินไปซื้อของทั้งที่จ่ายไปแล้ว ยังขาดโน่นนี่นั่น หรือบอกว่ารถเสีย คนงานป่วย ไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อมค่ารักษาเป็นต้น ข้ออ้างสารพัด พอจ่ายออกไปงานจะคืบหน้านิดเดียวแล้วก็หายตัวไป พอโทรไปตามก็จะขอเบิกเงินล่วงหน้า ผู้รับเหมาแบบนี้ต้องหลีกให้ไกลๆ ต้องบอกไว้ก่อนรับงานว่าที่นี่ไม่มีการเบิกล่วงหน้า ถ้าจะเบิกล่วงหน้าก็ถือว่าเลิกจ้างไปเลย
4. ผู้รับเหมาไม่ยอมเข้าหน้างาน มักจะเป็นการปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีการตรวจสอบหน้างาน ลากงานยาว แล้วจะจบลงด้วยการขอเบิกเงินล่วงหน้า แล้วก็หายไปเลย
5.โกงเงินมัดจำ กรณีนี้ผู้รับเหมามักจะคิดค่าจ้างถูกกว่าปกติ ทำให้เราตัดสินใจจ้างงาน แต่ผู้รับเหมาก็จะขอเรียกเงินมัดจำก่อนเช่นอาจจะสูงถึง 40 – 50 % ของมูลค่างาน ผลก็คือผู้รับเหมาได้เงินไปซักหมื่นสองหมื่น สั่งทรายกับหินมาวางกองไว้หน้าบ้านด้วยเงินไม่เกิน 2,000 บาท แล้วก็หายหน้าหายตาไปเลย
จากปัญหาข้างต้นจะเห็นได้ว่า เราควรหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ และเราควรเป็นคนกำหนดเงื่อนไขต่างๆเอง เช่นจะจ่ายเงินมัดจำก็ต้องมาเริ่มงานทันที เพราะหากผู้รับเหมาไม่มีเงินก็ไม่ควรจะมารับงาน แจ้งเขาไปว่าหากจะทำธุรกิจต้องมีต้นทุน หากอยากได้เงินก็ต้องทำงาน รับประกันการจ่ายตามความคืบหน้า อย่าใจอ่อนจ่ายเงินมัดจำไปเยอะๆ จะบบว่าระบบราชการนั้น การจ่ายเงินมัดจำจะต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเอาไว้
การเบิกเงินล่วงหน้าถือเป็นประเด็นที่เจ็บปวดกันมานักต่อนักแล้ว ต้องถือคติอย่าใจอ่อน แจ้งเขาไปว่า ก็ไปหายืมเงินในระบบหรือญาติๆก่อนไม่ได้รึ แล้วรีบมาทำงานเอาค่าจ้างไปคืนเขา ลองคิดประเด็นนี้ดูซิครับ การเบิกเงินไปก่อนคือเงินฟรีๆ ไม่ต้องทำงานก็ได้เงิน
แต่การมาทำงานหลังจากเบิกเงินไปแล้ว คือการมาทำฟรีๆ ทำแล้วไม่ได้ตังค์ (เพราะเบิกไปแล้ว) ใครจะอยากมาทำละครับ ลูกน้องก็ไม่อยากมาเพราะรู้ว่านายจ้างเบิกล่วงหน้าไปแล้ว ทำเสร็จแล้วก็ไม่ได้เงิน สู้ไปทำหน้างานอื่นดีกว่าเพราะทำแล้วอาจจะได้เงิน
ดังนั้นต้องถือกฏเหล็กเป็นหลักคือ ห้ามเบิกล่วงหน้า เมื่อไหร่ที่มาเบิกก็เตรียมตัวหาผู้รับเหมารายใหม่ดีกว่า
ที่มา:
http://thaifixing.com/%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%82%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89/