ผู้เขียน หัวข้อ: เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)  (อ่าน 8130 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ anastasia

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 107
  • พอยท์: 0
    • ดูรายละเอียด
เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)
« เมื่อ: 23 มีนาคม 2017, 11:29:54 »
หลักการทำงานของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

การทำงานของเซอร์กิตเบรกเกอร์เมื่อมีกระแสในวงจรเกินพิกัดที่เบรกเกอร์สามารถรับได้หน้าสัมผัสของเซอร์กิตเบรกเกอร์จะเปิดวงจร โดยมีหลักการทำงานดังนี้
  • Thermal Trip
หลักการทำงานประเภทนี้จะมีโครงสร้างภายในประกอบด้วย แผ่นโลหะไบเมทัล (bimetal) 2 แผ่น ซึ่งทำจากโลหะที่ต่างชนิดกันมีสัมประสิทธิ์ความร้อนไม่เท่ากัน เมื่อมีกระแสไหลผ่านโลหะไบเมทัลจะทำให้โลหะไบเมทัลเกิดการโก่งตัวแล้วไปปลดอุปกรณ์ทางกลทำให้เบรกเกอร์ตัดวงจรเรียกว่าเกิดการทริป (trip)
 
  • Magnetic Trip
การทำงานประเภทนี้จะอาศัยหลักการทำงานของอำนาจสนามแม่เหล็ก เมื่อวงจรเกิดกระแสลัดวงจรหรือมีกระแสเกินจะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กความเข้มสูงแล้วทำการปลดอุปกรณ์ทางกลไก ทำให้เบรกเกอร์เกิดการตัดวงจรหรือเปิดวงจรขึ้น ซึ่งการทำงานแบบนี้จะตัดวงจรได้เร็วกว่าแบบ Thermal Trip
 
  • Thermal-Magnetic Trip
เมื่อมีกระแสในวงจรเกินค่าพิกัดหน้าสัมผัสของเซอร์กิตเบรกเกอร์จะเปิดวงจร โดยอาศัยทั้งความร้อนและการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กช่วยในการปลดกลไกหน้าสัมผัสให้เปิดวงจร
Circuit Breaker
ภาพหลักการทำงานแบบ Thermal-Magnetic Trip
  • Solid State Trip หรือ Electronic Trip
หลักการทำงานประเภทนี้ได้นำวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ร่วมกับเซอร์กิตเบรกเกอร์ สามารถปรับค่ากระแสทริปให้ทำงานในย่านต่างๆ ได้ โครงสร้างภายในจะมีหม้อแปลงกระแส (CT: Current Transformer) อยู่ภายในตัวเบรกเกอร์ ทำหน้าที่แปลงกระแสให้ต่ำลงและมีไมโครโปรเซสเซอร์ทำหน้าที่วิเคราะห์กระแส หากกระแสมีค่าเกินกว่าที่กำหนดไว้จะสั่งการให้มีการปลดวงจรออก





ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

เซอร์กิตเบรกเกอร์เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่มีอยู่ทุกบ้านเรือนและในงานอุตสาหกรรม เพราะทุกที่ที่มีไฟฟ้าใช้เราไม่อาจทราบได้ว่าวงจรไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่นั้นจะเกิดความผิดพลาดตอนไหน ดังนั้นทางที่ดีคือควรมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ในการตัดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อมีกระแสไหลเกินกว่าค่าที่กำหนดหรือเมื่อวงจรไฟฟ้าเกิดปัญหา ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้งานกันอยู่นั้น มีดังต่อไปนี้
 
  • Air Circuit Breakers (ACB)
เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้ป้องกันสายเมน นิยมใช้กับงานแรงดันสูงๆ (HVAC) โครงสร้างทั่วไปทำด้วยเหล็กมีช่องดับอาร์ก (Arcing chamber) ที่ใหญ่และแข็งแรงเพื่อให้สามารถรับกระแสลัดวงจรจำนวนมากได้ ส่วนใหญ่จะมีหลักการทำงานโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจจับและวิเคราะห์กระแสเพื่อสั่งปลดวงจร
Circuit Breaker
ภาพ Air Circuit Breakers (ACB)
  • Moulded Case Circuit Breakers (MCCB)
เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้ในการควบคุมการจ่ายไฟฟ้าที่ได้รับมาจากส่วนของ ACB มีพิกัดกระแสลัดวงจรสูงแต่ไม่เท่า Air Circuit Breakers ซึ่งขนาดกระแสจะมีตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อยแอมป์
Circuit Breaker
ภาพ Moulded Case Circuit Breakers (MCCB)
  • Miniature Circuit Breakers (MCBs)
เป็นเบรกเกอร์ขนากเล็กมักใช้ในอาคาร ใช้ติดตั้งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับแผงจ่ายไฟฟ้าย่อย (Load center) หรือแผงจ่ายไฟฟ้าในห้องพักอาศัย (Consumer unit) มีพิกัดกระแสลัดวงจรต่ำ เป็นเบรกเกอร์ชนิดที่ไม่สามารถปรับตั้งค่ากระแสตัดวงจรได้ และส่วนใหญ่จะอาศัยกลไกการปลดวงจรในรูปแบบ thermal และ magnetic
Circuit Breaker
ภาพ Miniature Circuit Breakers (MCBs)
  • Residual Current Devices (RCDs)
เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่ในการตัดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟรั่วและไฟดูด (ไฟช็อต) ตามพิกัดที่กำหนดไว้ จะติดตั้งใน Consumer unit และตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า
Circuit Breaker
ภาพ Residual Current Devices (RCDs)
วิดีโอ RCD คืออะไรและมีความจำเป็นอย่างไร
  • Residual Current Circuit Breakers (RCCBs)
เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ชนิดหนึ่งที่ช่วยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดการรั่วไหลในระบบไฟฟ้าแต่ไม่สามารถตัดกระแสลัดวงจรได้ ในการทำงานนั้นจะใช้ควบคู่กับ MCB, MCCB
Circuit Breaker
ภาพ Residual Current Circuit Breakers (RCCBs)
  • Residual Current Circuit Breakers with Overload protection (RCBOs)
เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด (ไฟช็อต) พร้อมมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ในตัว สามารถตัดวงจรได้ทั้งกรณีที่มีไฟรั่วและมีกระแสลัดวงจร
Circuit Breaker
ภาพ Residual Current Circuit Breakers with Overload protection (RCBOs)



วิธีการเลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)
  • ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker): ควรทราบว่างานที่จะนำเซอร์กิตเบรกเกอร์ไปใช้นั้นเป็นงานประเภทไหน เพราะเซอร์กิตเบรกเกอร์ในแต่ละประเภทนั้นจะเหมาะกับงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น หากจะนำไปใช้ในการติดตั้งร่วมกับแผงจ่ายไฟฟ้าย่อยหรือแผงจ่ายไฟฟ้าภายในบ้านเรือนหรืออาคารก็ควรเลือกใช้เบรกเกอร์ประเภท Miniature Circuit Breakers เป็นต้น
  • หลักการทำงานเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker): เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่มีขายในท้องตลาดนั้นมีหลักการทำงานด้วยกันหลายแบบให้เราได้เลือกซื้อ ให้เราพิจารณาจากงานที่เราต้องการนำไปใช้ ปัจจุบันส่วนใหญ่นิยมใช้แบบ Thermal-Magnetic Trip และแบบ Electronic Trip
  • Pole: เป็นตัวบอกว่าเบรกเกอร์ที่เราใช้นั้นเป็นชนิด 1 เฟส หรือ 3 เฟส
              - 1 Pole หมายถึง เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 1 เฟสโดยป้องกันแค่สาย line อย่างเดียว
             - 2 Pole หมายถึง เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 1 เฟสโดยป้องกันสาย line และสาย neutral
             - 3 Pole หมายถึง เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 3 เฟสโดยป้องกันแค่สาย line อย่างเดียว
             - 4 Pole หมายถึง เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 3 เฟสโดยป้องกันสาย line และสาย neutral
 
  • ค่าพิกัดกระแสต่างๆ: ซึ่งค่าพิกัดเป็นตัวบ่งบอกถึงความสามารถ ขีดจำกัด ในการใช้งานของเซอร์กิตเบรกเกอร์ โดยค่าพิกัดที่ควรทราบมีดังนี้
              - Amp Trip (AT): ขนาดกระแสที่ใช้งาน เป็นตัวบอกให้รู้ว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นสามารถทนต่อกระแสในภาวะปกติได้สูงสุดเท่าใด หากในกรณีที่ขนาดอุปกรณ์ของผู้ผลิตมีค่าไม่ตรงกับค่าที่กำหนดก็สามารถเลือกใช้ค่าที่สูงขึ้นแทนได้ ซึ่งพิกัดการทนกระแสของเบรกเกอร์ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
                 - Standard circuit breaker ในที่นี่หมายถึงชนิด thermal magnetic ซึ่งถ้านำเอาเบรกเกอร์ชนิดนี้ไปใช้กับโหลดต่อเนื่องจะปลดวงจรที่ 80% ของพิกัดกระแสเบรกเกอร์
                 - 100% rated circuit breaker หากนำไปใช้กับโหลดต่อเนื่องจะตัดวงจรที่พิกัดกระแสของเบรกเกอร์แต่จะมีเฉพาะสินค้าของอเมริกาเท่านั้น
              - Amp Frame (AF): พิกัดกระแสโครง หมายถึงขนาดการทนกระแสของเปลือกหุ้มเป็นพิกัดการทนกระแสสูงสุดของเบรกเกอร์นั้นๆ เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่มีขนาด AF เดียวกันจะมีขนาดมิติ (กว้างXยาวXสูง) เท่ากัน สามารถเปลี่ยนพิกัด Amp Trip ได้โดยที่ขนาด (มิติ) ของเบรกเกอร์ยังคงเท่าเดิม
              - Interrupting Capacitive (IC): พิกัดการทนกระแสลัดวงจรสูงสุดโดยปลอดภัยของเบรกเกอร์นั้นๆ ปกติกำหนดค่าการทนกระแสเป็น 1kA ค่า IC บอกให้รู้ว่าเบรกเกอร์ที่ใช้มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการเลือกค่ากระแส IC เราต้องรู้จักค่ากระแสลัดวงจร ณ จุดนั้นๆ เสียก่อน ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประเภท ตามมาตรฐาน IEC
                 - In คือ พิกัดกระแสใช้งาน
                 - Icn คือ พิกัดกระแสลัดวงจร
                 - Icu คือ พิกัดการตัดกระแสลัดวงจรสูงสุด
                 - Ics คือ พิกัดการตัดกระแสลัดวงจรใช้งาน
 
  • ฟังก์ชันการใช้งาน: ในปัจจุบันถือว่าตลาดด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการแข่งขันกันสูงมาก เพราะฉะนั้นทางด้านผู้ผลิตเองต้องมีการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและมีความสามารถมากกว่าผู้ผลิตรายอื่น ตัวอย่างเช่น SCHNEIDER ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ทางด้านการบริหารจัดการพลังงานและระบบอัตโนมัติ ทาง SCHNEIDER ได้ออกแบบ MCCB รุ่น Compact NSX เป็นรุ่นที่เป็นมากกว่าอุปกรณ์ตัดไฟเนื่องจากได้มีการออกแบบให้มีฟังก์ชันต่างๆ ภายในตัว เช่น ฟังก์ชันการป้องกัน (Protection), ฟังก์ชันการวัด (Metering), ฟังก์ชันการสื่อสาร (Communication) ด้วยฟังก์ชันเหล่านี้ทำให้ผลการวัดการใช้พลังงานมีความแม่นยำสูง ลดความผิดพลาดในการวัด ช่วยให้การบริหารจัดการพลังงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Circuit Breaker
ภาพสินค้า MCCB รุ่น Compact NSX ของ SCHNEIDER
นอกจากนี้ยังออกแบบหน้าคอนแทกแบบ Roto-active ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ Compact NSX ช่วยให้การตัดกระแสลัดวงจรทำได้ไวภายใน 0.002 วินาที สามารถเลือกรูปแบบการป้องกันได้ Trip Unit ทำให้สามารถเลือกใช้เพื่อป้องกันโหลดได้หลากหลายประเภท เช่น โหลดประเภททั่วไป, มอเตอร์, เจนเนอเรเตอร์ และมีให้เลือกทั้งแบบ Thermal-magnetic และ Electronic สามารถถอดเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ สะดวกในการเปลี่ยนและการอัพเกรด Trip Unit
Circuit Breaker
ภาพแสดงฟังก์ชันของ MCCB รุ่น Compact NSX ของ SCHNEIDER
  • มาตรฐานต่างๆ: การเลือกใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งที่ควรคำนึงและไม่ควรมองข้ามนั้นคือมาตรฐานที่อุปกรณ์นั้นๆ ได้รับ เพราะนั้นคือสิ่งที่การันตรีได้ถึงคุณภาพของสินค้า มาตรฐานของเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่เห็นกันทั่วไป ได้แก่ IEC60898 กับ IEC60947-2 ซึ่งทั้งสองมาตรฐานนี้แตกต่างกันที่ ถ้าเป็น IEC60898 เป็นมาตรฐานเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป มีพิกัดกระแสขนาดไม่เกิน 125A และมีพิกัดกระแสลัดวงจรไม่เกิน 25kA ส่วนมาตรฐาน IEC60947-2 เป็นมาตรฐานที่ใช้กับเบรกเกอร์ที่ใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถปรับแต่ง เลือกขนาดให้เหมาะสมกับงานที่ต้องการนำไปใช้ได้
  • การอ่านชื่อ Model: การเลือกซื้ออุปกรณ์อุตสาหกรรม Model สินค้า ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากเขียนชื่อ Model ผิดไปเพียงแค่ตัวอักษรเดียว คุณอาจจะได้อุปกรณ์ที่มีสเปคไม่ตรงตามความต้องการ ดังนั้นในการเลือกซื้อเราควรศึกษาดูวิธีการอ่านชื่อ Model ในรุ่นนั้นๆ ให้ดี ซึ่งวิธีการอ่านชื่อ Model ของแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น ก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ทางผู้ผลิตเองจะมีไว้ให้ลูกค้าได้ดูอยู่แล้วหรือสามารถสอบถามโดยตรงกับทางตัวแทนจำหน่ายสินค้า
ตัวอย่างเช่น วิธีการอ่าน Model สินค้า เซอร์กิตเบรกเกอร์ประเภท MCCB ชื่อ Model: NS16H3D5ECH ของ SCHNEIDER
1. ให้
ดูวิธีการแบ่งรหัส Model ว่าแบ่งเป็นกี่ส่วน โดยแต่ละส่วนจะบอกรายละเอียดของสินค้าแตกต่างกัน
Circuit Breakerจากตารางจะเห็นว่ามีการแบ่งรหัส Model ออกเป็น 8 ส่วน
-    ส่วนที่ 1 บอกชื่อรุ่น
-    ส่วนที่ 2 บอกขนาดกระแสที่ใช้งาน
-    ส่วนที่ 3 บอกพิกัดการตัดกระแส
-    ส่วนที่ 4 บอกระบบไฟฟ้าที่ใช้งาน
-    ส่วนที่ 5 บอกลักษณะประเภทการติดตั้ง
-    ส่วนที่ 6 บอกลักษณะการทำงาน
-    ส่วนที่ 7 บอก Charging motor ว่าใช้งานที่แรงดันเท่าไร
-    ส่วนที่ 8 บอก Power connections type ว่าเชื่อมต่อแบบใด
2. ให้
ดูความหมายของรหัสในแต่ละส่วน
Circuit Breaker
จากข้อมูลด้านบน จะได้ว่า
NS16H3D5ECH คือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ Compact NS มีขนาดกระแสที่ใช้งานอยู่ที่ 1600A, มีพิกัดการตัดกระแส Icu = Ics = 70kA, 3 Pole เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 3 เฟสโดยป้องกันแค่สาย line อย่างเดียว, Drawout เป็นเบรกเกอร์ชนิดชักออก ติดตั้งบนฐานรางเลื่อน สามารถถอดเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้อย่างง่ายดาย, สามารถป้องกัน Overload, short circuit, Instantaneous และมีฟังก์ชันที่สามารถวัดค่ากระแส แรงดัน Power และ Energy ได้, Charging motor 220-240 Vac, ประเภท Power connections เป็นแบบแนวนอน
 
  • วิธีการเทียบรุ่นจากยี่ห้อ A ไปเป็นยี่ห้อ B: หากเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่คุณใช้อยู่นั้นเกิดมีปัญหาและต้องการซื้อใหม่ แต่ถ้ายี่ห้อที่คุณใช้อยู่เลิกผลิตรุ่นนั้นไปแล้ว คุณจะทำอย่างไร? วิธีการเทียบสเปคคือคำตอบ ซึ่งวิธีการเทียบสเปคนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิดครับ
ตัวอย่างเช่น เซอร์กิตเบรกเกอร์ตัวเดิมที่เสียไปนั้นเป็นประเภท MCCB มีขนาดกระแสที่ใช้งานอยู่ที่ 100A มีพิกัดการตัดกระแสลัดวงจรสูงสุดอยู่ที่ 70 kA และเป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้กับระบบ 1 เฟส
วิธีการเทียบสเปค
1.    ให้ดูข้อมูลสิ่งที่เราต้องการใช้งานว่ามีอะไรบ้าง โดยสิ่งที่ในตัวอย่างนี้ต้องการ คือ
       - เซอร์กิตเบรกเกอร์ประเภท MCCB
       - มีขนาดกระแส (ในบางยี่ห้อจะใช้คำว่า Amp Trip (AT), Frame Rating) 100A
       - มีพิกัดการตัดกระแสลัดวงจรสูงสุด (Icu) อยู่ที่ 70 kA
       - เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้กับระบบ 1 เฟส (1P, 2P หรือ 1 Pole, 2 Pole )
2.    ให้หายี่ห้อที่เราสนใจแล้วนำข้อมูลที่ต้องการไปเทียบกับสเปคสินค้าของยี่ห้อนั้นๆ ในที่นี่
ขอยกตัวอย่างยี่ห้อ SCHNEIDER จากการเทียบข้อมูลข้างต้นจะตรงกับรุ่น Compact NSX
Circuit Breaker





วิธีการติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

การติดตั้งอุปกรณ์ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการใช้งาน เพราะหากทำการติดตั้งผิดวิธีอุปกรณ์อาจเกิดความเสียหายได้และอาจทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล้าช้าในการซ่อมบำรุงอีกด้วย ดังนั้นก่อนทำการใช้งานหรือจะติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ ก็ตามเราควรศึกษาถึงวิธีการติดตั้ง การเดินสายไฟ รวมถึงข้อควรระวังในการใช้งาน
การรู้จักส่วนประกอบของอุปกรณ์เป็นอย่างดีนั้นถือเป็นสิ่งแรกที่ควรดูเพราะจะช่วยให้เข้าใจถึงการติดตั้งและใช้งานอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนประกอบของเบรกเกอร์ก็อาจจะแตกต่างกันตามแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น เช่น มีช่องสำหรับต่ออุปกรณ์ช่วย Auxiliaries, แถบแถบบอกสถานะการเกิด Fault Trip, Push to Trip เป็นปุ่มสำหรับทดสอบอุปกรณ์ทางกลที่ใช้สำหรับปลดวงจร โดยทั่วไปจะทำการทดสอบปีละครั้ง
Circuit Breaker
ภาพแสดงบอกส่วนประกอบภายนอกต่างๆ ของเซอร์กิตเบรกเกอร์

Circuit Breaker
ภาพแสดงบอกส่วนประกอบภายในต่างๆ ของเซอร์กิตเบรกเกอร์

วิธีการเข้าสายของเซอร์กิตเบรกเกอร์ให้สังเกตจุดเข้าโดยทั่วไปแล้วจะมีอักษร L ซึ่งเป็นจุดเข้าสายเส้นไฟ (ให้ใช้สีดำ) และ N เป็นจุดเข้าสายศูนย์ (ให้ใช้เส้นสีเทา) ส่วนด้านไฟออกก็ให้ใช้สีตรงกันได้เลย
Circuit Breaker
ภาพแสดงวิธีการเดินสายเซอร์กิตเบรกเกอร์ประเภท RCCB

วิธีการติดตั้งอุปกรณ์ก็ควรติดตั้งให้เหมาะสมกับตัวอุปกรณ์ที่ได้ออกแบบมาก เช่น หากจะทำการติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์ประเภท Air Circuit Breakers (ACB) ที่เป็นแบบ Drawout ซึ่งเบรกเกอร์แบบนี้จะเป็นชนิดชักออก เหมาะกับการติดตั้งบนฐานรางเลื่อน มากกว่าแบบ Fixed 
นอกจากรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วนั้น อุปกรณ์เสริมก็ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของเซอร์กิตเบรกเกอร์มากยิ่งขึ้นและยังช่วยเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย ซึ่งอุปกรณ์เสริมของเซอร์กิตเบรกเกอร์นั้นจะมีทั้งแบบติดตั้งภายในและติดตั้งภายนอก ตัวอย่างเช่น
 
  • Shunt Trip เป็นชุดควบคุมการทริประยะไกล ติดตั้งร่วมกับเบรกเกอร์เป็นการควบคุมแบบรีโมทโดยไม่ต้องเดินมาปลดวงจรที่ตัวเบรกเกอร์
  • Undervoltage Trip ใช้ติดตั้งเพื่อตรวจจับแรงดันที่จ่ายเข้ามายังเบรกเกอร์ ถ้าแรงดันไฟฟ้าที่เข้ามาต่ำกว่าที่กำหนดก็จะสั่งปลดเบรกเกอร์ทันที
  • Auxiliary Switch ใช้แสดงสถานะของเซอร์กิตเบรกเกอร์ขณะนั้นว่า ON หรือ OFF/TRIP
  • Alarm Switch เป็นอุปกรณ์หน้าสัมผัสช่วย ซึ่งจะเปลี่ยนสถานะเมื่อเบรกเกอร์ปลดวงจร
Circuit Breaker
ภาพแสดงอุปกรณ์เสริมต่างๆ ของเซอร์กิตเบรกเกอร์ของแบรนด์ LS
  • Ground Fault Shunt Trip เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สั่งปลดวงจรเมื่อมีกระแสรั่วไหลออกจากระบบเกินค่าที่ตั้งไว้
  • Handle Padlock ใช้ล็อคเบรกเกอร์ให้อยู่ในตำแหน่ง ON หรือ OFF
  • Cylinder Lock เป็นกุญแจสำหรับล็อกเบรกเกอร์ไว้ในตำแหน่ง OFF เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีกุญแจมา ON เบรกเกอร์


เป็นอย่างไรบ้างครับ หากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเข้ามาได้เลยนะครับ หรือท่านใดต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการทำงานของเซอร์กิตเบรกเกอร์, ประเภทต่างๆ ของเซอร์กิตเบรกเกอร์, วิธีการเลือกซื้อเซอร์กิตเบรกเกอร์, การใช้งานเซอร์กิตเบรกเกอร์ในงานอุตสาหกรรม ทาง Factomart.com ได้จัดทำไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ หรือท่านใดต้องการเลือกชมสินค้าสามารถเข้ามาได้ที่ Factomart.com ครับผม


ที่มา: https://www.factomart.com
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มีนาคม 2017, 12:37:21 โดย anastasia »