ผู้เขียน หัวข้อ: ปริศนาที่ซ่อนไว้ ในคำถามสัมภาษณ์งาน  (อ่าน 1660 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Master

  • [color=Turquoise][i]"อาจจะเหนื่อยล้าและมีผิดหวัง แต่ยังมีพรุ่งนี้ให้เราได้เริ่มกันใหม่ ทุกชีวิตที่อยู่ในเมืองนี้ สักวันก็คงได้สมดังใจ ... "[/i][/color]
  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 487
  • พอยท์: 0
    • ดูรายละเอียด
ปริศนาที่ซ่อนไว้ ในคำถามสัมภาษณ์งาน
« เมื่อ: 22 พฤศจิกายน 2016, 15:37:08 »
 บท ความนี้จะเป็นการเจาะลึกถึงเบื้องหลังการถามคำถามยอดนิยม ที่ผู้สัมภาษณ์ใช้ในการคัดเลือกพนักงาน ว่าในแต่ละคำถามนั้นกรรมการผู้คัดเลือกต้องการตรวจสอบอะไรผู้สมัครบ้าง รวมถึงคำแนะนำในการนำเสนอตัวของผู้สมัครให้ตอบโจทย์และตรงเป้าหมาย

 “ช่วยแนะนำตัวคุณเองอย่างคร่าวๆหน่อยได้ไหม ?” สิ่งที่ผู้ถามส่วนใหญ่อยากรับฟังจากผู้สมัคร คือ
  • ประวัติการศึกษา และประสบการณ์การทำงานของคุณที่เกี่ยวข้องกับงาน
  • งานอดิเรกของคุณ หรือความสนใจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานที่สมัครนี้
  • ความสามารถที่โดดเด่นของคุณจากการทำงานที่ผ่านมา
  ผู้สมัครที่ไม่ได้เตรียมตัว ใช้เวลาส่วนมากในการตอบไปกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานน้อย หรือไม่มีความเกี่ยวพันกับงานเลย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เช่น เล่าว่าตัวเองเคยเปลี่ยนชื่อมากี่ครั้ง แต่ละครั้งมีแรงจูงใจอย่างไรในการเปลี่ยน ชื่อแต่ละชื่อมีความหมายอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของกรรมการ และทำให้ผู้สมัครพลาดโอกาสได้งานไปอย่างน่าเสียดาย

 “ทำไมถึงเปลี่ยนงาน หรือเหตุใดจึงลาออกจากงานเดิม ?”สิ่งที่กรรมการต้องการตรวจสอบ คือ
  • ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานกับสถานที่ทำงานเดิม และสัมพันธภาพกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานเดิม
  • ตัวอย่างเหตุการณ์ และเหตุผลหลักๆที่ผู้สมัครใช้ตัดสินใจในการเริ่มหางานใหม่ หรือลาออก
  *** พึงระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นของคุณ ในการพาดพิงถึงที่ทำงานและหัวหน้างานเดิม ในเชิงลบในทุกๆด้าน แต่คงไม่ใช่ทุกรายที่จบจากที่เดิมด้วยความสุข ความสำเร็จ  หน้าที่ของคุณ คือ การสื่อถึงแนวคิดและมุมมองในการหาทางออกที่ดีให้กับตัวคุณเองแบบผู้ที่มี วุฒิภาวะ และด้วยความจริงใจ ซึ่งแสดงออกได้ชัดเจนทางสีหน้า แววตา ข้อสำคัญคือ ห้ามโกหกเด็ดขาด เนื่องด้วยในการจ้างงานยุคปัจจุบัน มีกระบวนการตรวจสอบมากมาย ถึงที่ทำงานในอดีตของคุณ อย่าลืมว่าความลับไม่มีในโลก  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงคือ ผู้สมัครที่มีปัญหากับที่ทำงานเก่า แล้วไม่เปิดเผยข้อมูลว่า เคยผ่านงานบริษัทนี้มาก่อน ไม่ช้าก็เร็ว เมื่อความจริงปรากฎ คุณก็จะต้องออกจากงานไปพร้อมกับประวัติที่ไม่ดี ซึ่งจะมีผลย้อนมาถึงคุณในตอนที่ไปสมัครงานที่อื่นๆ

 “จุดเด่นของคุณคืออะไร ?”สิ่งที่ผู้ถามต้องการทราบในรายละเอียด คือ
  • ตัวอย่าง เหตุการณ์ หรือพฤติกรรมที่แสดงออกถึงอุปนิสัย หรือคุณลักษณะเฉพาะที่มีในตัวคุณ ที่จะทำให้เห็นภาพของความสำเร็จในงานนั้นๆในอนาคตต่อไปได้
  • การ เน้นย้ำถึงสิ่งที่คุณทำได้สำเร็จ หรือผลงานที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ หลีกเลี่ยงการสมมติเหตุการณ์ หรือพูดเฉพาะประโยคนามธรรมที่ฟังดูสวยหรู
  *** ผู้สมัครเกือบทั้งหมด มุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูล ถึงความเก่ง ความฉลาด ความขยันขันแข็ง อดทน ความรอบรู้ในงาน ความเชี่ยวชาญ จึงขอฝากข้อคิดไว้ในที่นี้ว่า ในการทำงาน มีเรื่องสำคัญอื่นๆอีกมาก นอกเหนือจากความรู้ และ ทักษะในงาน เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ การมาทำงาน ความตรงต่อเวลา ความมีน้ำใจ การมีจิตอาสา รวมถึงเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งยากจะหาได้จากการถามคำถามอื่นๆในการสัมภาษณ์ หากคุณสามารถใช้โอกาสนี้ในการสร้างความเชื่อมั่นกับกรรมการได้ ก็จะทำให้คุณสามารถสร้างคะแนนบวกได้มากทีเดียว


 “ข้อด้อย หรือจุดอ่อนที่คุณควรพัฒนา คืออะไร ?”สิ่งที่ผู้ถามต้องการประเมินจากคำถามนี้คือ
  • ทักษะในการวิเคราะห์ตัวเองของผู้สมัคร รวมไปถึงแรงจูงใจในการปรับปรุงหรือพัฒนาตนเอง
  • ความ สามารถของผู้สมัครในการดึงเอาประเด็นความผิดพลาดสำคัญๆในการทำงานในอดีต มาเป็นบทเรียน เพื่อปรับปรุง หรือพัฒนาตนเอง หรือผลงานให้ดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ว่าที่นายจ้างใหม่ประทับใจกับตัวคุณ เพราะ เขาจะมองว่าเป็นโอกาสทอง ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าบทเรียนราคาแพงจากความผิดพลาดนั้นที่เคยเกิดขึ้นกับที่ ทำงานเดิมของคุณ หากได้คุณมาร่วมงานที่ใหม่นี้
  *** ผู้สมัครที่ไม่ได้เตรียมตัวในการสัมภาษณ์ส่วนหนึ่ง มักจะให้คำตอบกับคำถามประเภทนี้ว่า “ไม่มีข้อด้อย” หรือ “นึกไม่ออก”ซึ่งคุณคิดแล้วว่าเป็นคำตอบที่ไม่ได้ดูแย่อะไร แต่กลับสร้างคำถามในใจกรรมการมากมายว่า “แน่ใจหรือ?” หรือ เมื่อสักครู่ที่เล่าถึงเรื่องปัญหาในงาน คุณยังอ้างอยู่เลยว่า “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบใช่ไหม?” จึงอยากฝากให้ผู้สมัครเตรียมการบ้านข้อนี้ให้ดี เพราะหากคุณทำความรู้จักกับตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว ย่อมทำให้ผู้อื่นเข้าใจคุณมากขึ้นด้วย และคุณก็จะไม่พลาดโอกาสที่ดีหลายๆอย่างในชีวิตไป

“คุณให้คะแนนตัวเองในเรื่องการทำงาน หรือประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างไร ?”สิ่งที่ผู้ถามส่วนใหญ่อยากรับฟังจากผู้สมัคร คือ
  • คุณ ได้ใช้หลักเหตุผล หรือ หลักเกณฑ์ใดในการประเมิน และจำแนกความแตกต่างของผลการปฏิบัติงานของบุคคล โดยใช้ตัวอย่าง คือผลงานของคุณเอง (เพราะคุณย่อมรู้ดีมากกว่าใคร)
  • คำ ตอบจากคำถามข้อนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คุณให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลงานมากน้อยเพียงใด หรือ ทำงานเพียงเพื่อให้ผลงานพอผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อรับค่าตอบแทนไปเรื่อยๆ ซึ่งโดยธรรมชาติของกฎการคัดสรรแล้ว ผู้สมัครประเภท “ค่าเฉลี่ย” ย่อมมีความน่าสนใจน้อยกว่า ผู้สมัครประเภท “ค่าสูงสุดระดับต้นๆ” อย่างมาก

  “คุณมีทางออกที่ดีสำหรับปัญหาในงานที่ยากและท้าทายอย่างไร ?”สิ่งที่ผู้ถามส่วนใหญ่อยากรับฟังจากผู้สมัคร คือ
  • ข้อมูล เกี่ยวกับคุณสมบัติ และความสามารถในการทำงานของคุณ ที่คุณได้นำมาใช้ในการก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้น เนื่องจาก สิ่งที่จะพิสูจน์ ว่าพนักงานคนหนึ่งๆทำงานได้ดีเพียงใดนั้น ช่วงที่พิสูจน์ได้ดีที่สุด คือ ช่วงที่มีอุปสรรค หรือปัญหาในงานเข้ามามากๆ  (หากเป็นผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน คำถามข้อนี้ก็จะมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ในการศึกษาหรือการฝึกงานของคุณ)
  • คุณ ต้องแสดงให้เห็นทักษะในการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และการบริหารจัดการเวลาที่อย่างมีประสิทธิภาพของคุณ เหตุผลหลักๆ คือในองค์กรนั้นๆ คุณมีทรัพยากรต่างๆจำกัด คุณไม่สามารถแก้ปัญหาทุกๆอย่างที่รุมล้อมพร้อมๆกันได้ และนี่ก็เป็นตัวชี้วัดฝีมือของคุณที่ค่อนข้างชัดเจนอย่างหนึ่ง

  “เหตุผลที่ทางบริษัทต้องเลือกคุณให้ทำงานกับเรา ?”   สิ่งที่ผู้ถามส่วนใหญ่อยากรับฟังจากผู้สมัคร คือ
  • การ ให้ข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น รางวัลความสำเร็จต่างๆ ผลการประเมินการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา ผลงานชิ้นสำคัญ ที่ผู้สัมภาษณ์ไม่เคยทราบมาก่อน
  • ยก ตัวอย่าง ลักษณะงานที่คุณได้ประยุกต์ใช้ความรู้ หรือนำประสบการณ์จากความผิดพลาดมาปรับใช้ในงาน ได้อย่างประสบผลสำเร็จ รวมถึงเวลาที่ผลงานของคุณบางเรื่องอาจไม่เข้าตา ควรเล่าให้กรรมการฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และคุณพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสอย่างไร
  *** ผู้สมัครหลายคนอาจตั้งข้อสังเกตกับคำถามประเภทนี้ว่า เป็นคำถามที่เชิญชวนให้ผู้สมัครสร้างสรรค์คำตอบที่เป็นเท็จ หรือเป็นนามธรรมที่เกิดจากการวาดฝันไว้ให้สวยงาม เปรียบเหมือนกับการถามว่า “คุณมีคุณสมบัติ หรือความสามารถหรือไม่”แน่นอนว่า น้อยคนที่พร้อมจะตอบว่า “ผมไม่มีคุณสมบัติที่บริษัทต้องการ”  คำแนะนำสำหรับกรณีนี้คือ โปรดอย่าได้ประมาทกับวิธีการคัดสรรของกรรมการที่อยู่ต่อหน้าคุณ เพราะเชื่อเถิดว่าเขาเหล่านั้นมี คำถามที่เจาะจง เพื่อตามล่าหาความจริงตามมาอีกมากมาย หากได้ยินคำตอบประเภทฝันเฟื่อง ไม่มีที่มาที่ไป (แนะนำให้ศึกษาบทความ ค้นฟ้าคว้างาน กับการสัมภาษณ์แบบ STAR Modelจากเว็บไซต์ Jobmarket ประกอบเพิ่มเติม)


ที่มา: http://jobmarket.co.th/mustKnow/content_detail.php?dd=974
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 พฤศจิกายน 2016, 15:41:57 โดย Master »