ผู้เขียน หัวข้อ: การตอบข้อสัมภาษณ์  (อ่าน 749 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Master

  • [color=Turquoise][i]"อาจจะเหนื่อยล้าและมีผิดหวัง แต่ยังมีพรุ่งนี้ให้เราได้เริ่มกันใหม่ ทุกชีวิตที่อยู่ในเมืองนี้ สักวันก็คงได้สมดังใจ ... "[/i][/color]
  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 487
  • พอยท์: 0
    • ดูรายละเอียด
การตอบข้อสัมภาษณ์
« เมื่อ: 23 ตุลาคม 2016, 12:58:38 »

การสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์เป็นขั้นตอนการจ้างงานที่อาจถือได้ว่ามีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ คงจะไม่มีหน่วยงานใด ไม่ว่าจะหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ตกลง ใจจ้างคนเข้าทำงาน โดยไม่ผ่านขบวนการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานเป็นแน่ เพราะข้อมูลคุณสมบัติเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นคุณวุฒิ ประสบการณ์ ความสามารถ ฯลฯ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังเป็นข้อมูลที่ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด เพื่อผู้สัมภาษณ์จะได้นำข้อมูลต่าง ๆ เหล่า นั้นนำมาใช้ในการ "ทำนาย" ว่าถ้าเลือกคนนี้เข้าทำงาน เขาจะ เหมาะสมกับหน่วยงานและงานที่เขาจะต้องทำหรือไม่ และเขาน่าจะทำงานนั้น ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ หรือไม่

หัวข้อต่าง ๆ ที่ผู้สัมภาษณ์มักจะสัมภาษณ์ผู้สมัครงาน มีดังนี้
1. ชีวประวัติเบื้องต้น (Family / Early background)
บางครั้งผู้สมัครก็งงหรือทำอะไรไม่ถูก เมื่อต้องเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับชีวประวัติเบื้องต้น และไม่รู้ว่าจะตอบคำถามประเภทนี้อย่างไรจึงจะจัดว่า ตรงประเด็นและถูกต้อง ที่จริงแล้วที่ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามเหล่านี้ก็เพื่อตรวจสอบดูว่า ผู้สมัครทำตัวอย่างไรในขณะที่มีเวลาและโอกาสแตกต่างกัน เช่น ผู้สมัครทั้งสองอาจสอบได้คะแนนดีทั้งคู่ แต่เวลาและโอกาสอาจจะมีไม่เท่ากัน เป็นต้นว่า คนแรกอาจจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี มีผู้ปกครองคอยช่วยเหลือ และส่งเสริมให้มีโอกาสศึกษาหาความรู้อย่างเต็มที่ และถึงจะพลาดงานนี้ก็ไม่เดือดร้อนเรื่องสถานภาพทางด้านการเงิน จึงอาจไม่ค่อยกระตือรือร้น แต่ในทาง กลับกัน ผู้สมัครคนที่สองมีโอกาสและเวลาศึกษาน้อยเพราะมาจากครอบครัวที่ยากจน และต้องคอยช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานเลี้ยงชีพ แต่มีความตั้งใจจริงและ อยากได้งานทำ เพราะต้องการแบ่งเบาภาระของบุพการี ในลักษณะเช่นนี้ ผู้สัมภาษณ์ก็อาจจะให้คะแนนผู้สมัครคนที่สองมากกว่า เพราะมีความกระตือรือร้น และตั้งใจจริงมากกว่า ถึงแม้จะเรียนดีด้วยกันทั้งคู่ แต่องค์ประกอบอื่น ๆ ก็นับเป็นตัวแปรที่สำคัญอีกด้วย

2. การศึกษาและการฝึกงาน (Education and Training)
คำถามลักษณะนี้จะมุ่งไปยังการหาข้อมูลอันเกี่ยวกับการเรียนและคะแนนที่ผู้สมัคร ได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้สมัครไม่มีประสบการณ์ การทำงานมาก่อนเลย หรือมี บ้างนิดหน่อยผู้สัมภาษณ์ก็จะเน้นไปยังจุดนี้ และนอกจากนี้ก็อาจจะรวมคำถามเกี่ยวกับ กิจกรรมนอกหลักสูตร (Extra-Curricular Activities) เข้าไว้ด้วย เช่น การเป็นสมาชิก ของชมรมต่าง ๆ ระหว่าง เรียน เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ทำการประเมิน ผลการให้ คะแนนได้ง่ายขึ้น เพราะ พอจะ มองออกว่าผู้สมัครเป็นคนเช่นไร

3. ประสบการณ์ในการทำงาน (Work Experience)
ที่จริงแล้วในจดหมายสมัครงาน (Application Letter) และประวัติย่อ (Resume) ก็จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติการทำงานอยู่แล้ว เช่น เคยทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร และอยู่ ในตำแหน่งนั้นนานเท่าไร เหล่านี้เป็นต้น แต่ที่ต้องถามลึกลงไปอีก ก็เพื่อตรวจสอบดูรายละเอียดอื่น ๆ เป็นต้นว่า ความ สามารถในการทำงานเป็นอย่างไร การทำตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างไร และทำไมจึงออกจากงานที่ว่านี้ นอกจากนี้ก็เพื่อเป็นการ ทดสอบดูว่าผู้สมัครจะ ตอบคำถามตรงกับข้อมูลที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้ในจดหมายสมัครงานและประวัติย่อหรือไม่ งานประเภทใดที่เหมาะสมกับผู้สมัครนี้ หรือ เขาชอบงานประเภทใด
ถึงแม้ว่าคำถามนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับนักศึกษาจบใหม่ แต่นักศึกษาจบใหม่บางรายก็มีประสบการณ์ในการทำงานนอกเวลา (Part-time) มาก่อนก็มี แต่ก็จะถามได้ไม่ละเอียดเหมือนกับผู้ที่เคยทำงานเต็มเวลา (Full-time) มาก่อนอยู่ดีนั่นเอง

4. สิ่งกระตุ้นและแรงดลใจ (Motivation and Aspirations)
ผู้สัมภาษณ์อาจต้องการตรวจสอบสิ่งกระตุ้นใจ และความกระตือรือร้นของผู้สมัครว่าสนใจงานประเภทใดเป็นพิเศษ ซึ่งก็อาจจะถามคำถาม ประเภท นี้
1) Why have you decided to apply for this job?
2) Where do you see yourself in five years time?
3) What would you do if you inherited a large sum of money?
คำถามในลักษณะนี้ ผู้สัมภาษณ์สามารถตรวจอสอบได้ว่าผู้สมัครมีความทะเยอทะยานสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป และความทะเยอทะยานของผู้สมัครนั้นมี ทางเป็นไปได้หรือไม่หรือเป็นแค่เพียงความฝันเท่านั้น

5. ความสนใจยามว่าง / งานอดิเรก (Leisure interests)
คำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคำถามแบบกว้าง ๆ เช่น
1) How do you spend your spare time?
2) Do you have any hobbies?
คำถามประเภทนี้ จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ตรวจสอบได้ว่าผู้สมัครมีความสามารถในการแสดงออกอย่างไร มีความชัดเจนเพียงพอหรือไม่ ทั้งยังเป็น การตรวจสอบดูว่า งานอดิเรกของผู้สมัครมีผลดีต่องานที่เขาสมัครนั้นอย่างไร เช่น ถ้าชอบท่องเที่ยวก็เหมาะกับงานประเภททัวร์ หรือเป็นมัคคุเทศก์ เป็นต้น

6. ความชำนาญพิเศษ (Specialist and technical matters)
งานประเภทที่ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ เช่น ทางด้านวิทยาศาสตร์ หรืองานประเภทวิชาชีพต่างๆ ซึ่งในการทดสอบผู้สมัครนั้น นอกจากจะให้ผู้ สมัครทำข้อสอบแล้ว ผู้สัมภาษณ์อาจจะต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมนอกจากการทำข้อสอบที่เป็นข้อเขียนแต่เพียงอย่างเดียว โดยเรียกเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ อีกครั้งหนึ่ง ก่อนตัดสินใจรับผู้ใดผู้หนึ่งเข้าทำงาน และการให้มีการสอบสัมภาษณ์ด้วยนี้ยังจะสามารถทดสอบได้ว่า ผู้สมัครมีความฉับไวในการตอบข้อซัก ถามได้ดีเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนเขาจะแก้สถานการณ์เฉพาะ หน้าได้ดีเพียงใด เป็นต้น

7. สุขภาพ (Health)
โดยมากเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพนี้ ผู้สัมภาษณ์สามารถดูได้จากใบรับรองแพทย์ (Medical Certificate) ที่แนบมานั้นแล้ว แต่ที่ต้องถามเกี่ยวกับ เรื่องสุขภาพอีกก็เพราะว่างานบางอย่างก็ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างไร ผู้สัมภาษณ์ที่ไม่ใช่แพทย์ก็ไม่ควรที่จะออกคำ วินิจฉัยเกี่ยวกับตัวผู้สมัครเสียเองว่า มีความเหมาะสมกับงานหรือไม่

แนวทางการตอบข้อสัมภาษณ์งาน
หลังจากที่ได้ทราบแนวถามมาคร่าว ๆ แล้ว ผู้สมัครก็ควรศึกษาแนวตอบด้วยว่า ในเมื่อต้องเผชิญกับคำถามประเภทนี้ จะต้องตอบในลักษณะใดจึงจะ เหมาะสมและมีน้ำหนักพอที่จะทำให้เรามีความโดเด่นกว่า ผู้สมัครรายอื่น ๆ ได้

1. ชีวประวัติเบื้องต้น (Family / Early background)
ความจริงแล้วคำถามเกี่ยวกับชีวประวัติเบื้องต้นนี้ เป็นคำถามประเภทตรงไปตรงมา สามารถคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ และยังง่ายต่อการตอบอีกด้วย แต่ ผู้สมัครบางท่านก็อายไม่กล้าที่จะเปิดเผยพื้นเพครอบครัวของตนเอง เพราะเกรงว่าจะถูกหัวเราะเยาะ ที่จริงแล้วผู้สมัครไม่ควรอายที่ตอบ หรือพยายามปกปิด ข้อเท็จจริง และที่สำคัญคือไม่ควรพูดเท็จ ควรตอบตามความเป็นจริง ผู้สัมภาษณ์เองก็จะได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ประเมินคุณสมบัติของ ผู้สมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้สมัครทั้งสองคนมีคุณสมบัติ และความสามารถทัดเทียมกัน แต่มาจากพื้นเพที่แตกต่างกัน

2. การศึกษาและการฝึกงาน (Education and Training)
ในทำนองเดียวกันคำถามเกี่ยวกับการศึกษาและการฝึกงานก็ง่ายต่อการตอบเช่นกัน นอกเสียจากว่าผู้สมัครไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าก็ดูจะเป็นการ ยากพอสมควร ในกรณีที่ผู้สมัครทำคะแนนได้ไม่ดี ผู้สัมภาษณ์ก็อาจจะถามถึงสาเหตุที่ทำให้เขาได้คะแนนได้ไม่ดีนั้น แต่ผู้สมัครก็ไม่ควรจะแก้ตัวไปเสียทุก กรณีไป ควรยอมรับในจุดด้อยของตนเองบ้าง
ความจริงแล้ว ผู้สัมภาษณ์อาจไม่ต้องการถามลึกไปถึงเหตุผลของการทำคะแนนได้ดีหรือไม่ดี แต่ที่ถามเพราะเขาอาจต้องการที่จะทดสอบว่า ผู้สมัครมีความสามารถในการแสดงออกได้ดีแค่ไหนเพียงใด เมื่อต้องเผชิญกับคำถามในลักษณะนี้

3. ประสบการณ์ในการทำงาน (Work Experience)
คำตอบที่ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำงานก็คือ
1) เหตุผลที่ออกจากงานเก่า
2) ทำไมจึงต้องการทำงานที่นี้
3) เคยทำงานอะไร ในตำแหน่งใด เป็นงานที่มีส่วนช่วยส่งเสริมงานที่สมัครนี้หรือไม่
4) เคยประสบความสำเร็จในการทำงานประเภทใดมาก่อนบ้างหรือไม่
5) เคยมีปัญหาอะไรบ้าง และแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร
6) เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดีหรือไม่เพียงใด
แนวตอบสำหรับข้อที่ 1 และ 2 ก็เห็นจะได้แก่ เพื่อต้องการเพิ่มประสบการณ์ หาความก้าวหน้า หรืองานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นและท้าทายกว่านี้ หรือไม่ก็บริษัทที่สมัครนี้มีชื่อเสียงดี รวมทั้งให้
สวัสดิการดี

4. สิ่งกระตุ้นและแรงดลใจ (Motivation and Aspirations)
ผู้สมัครควรรู้ตัวเองว่า เราต้องการทำอะไรในขณะนี้ มีแผนการอะไรบ้าง และในอนาคตมีแผนการอะไร ไม่ควรตอบว่า ยังไม่มีแผนการที่แน่นอน เพราะจะทำให้ดูเหมือนว่ายังเป็นคนหลักลอยและไม่มีการวางแผนที่แน่นอน
ควรแสดงความกระตือรือร้นและความทะเยอทะยานแต่พอดี กล่าวคือ ไม่มากเกินไป และน้อยเกินไปจนดูแทบไม่มีความกระตือรือร้นอยู่เลย อย่างไร ก็ตาม ผู้สมัครไม่ควรแสดงออกถึงความเป็นผู้มีความทะเยอทะยานจนเกินไป เพราะจะทำให้พลาดโอกาสได้ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าผู้สัมภาษณ์อาจมองว่า ผู้สมัครมีความทะเยอทะยานมาก จึงอาจไม่ค่อยจะพอใจกับอะไรได้ง่าย ๆ และอาจจะอยู่ทำงานได้ไม่นานก็ออกไปหางานใหม่ทำ ซึ่งจะทำให้บริษัทเสียเงิน และเสียเวลาในกาคัดเลือกผู้สมัครประเภทนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์
คำถาม "Are you willing to move to another part of the country if the company wants you to?"
ก็ไม่ควรด่วนตัดสินใจปฏิเสธ ควรคิดดูให้รอบคอบเสียก่อนและอย่าลืมว่าการได้ออกไปอยู่ต่างจังหวัดจะทำให้เราเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ได้รับ ประสบการณ์เพิ่มขึ้น และแสดงให้เห็นว่าเรามีความต้องการทำงานจริง ๆ เพราะฉะนั้นผู้สมัครก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมว่า เราสามารถปฏิบัติ ตามนั้นได้หรือไม่

5. ความสนใจยามว่าง / งานอดิเรก (Leisure Interests)
ในการตอบคำถามเกี่ยวกับความสนใจยามว่าง ระวังอย่าพูดเท็จ เช่น ถ้าถูกถามว่า
"I see you like reading. What was the last book you read?"
ถ้าหากการอ่านหนังสือมิใช่ความสนใจของตนเองแล้ว ก็อย่าตอบเพียงเพื่อเอาใจผู้สัมภาษณ์เป็นอันขาด ดังนั้นถ้าจะบอกว่างานอดิเรกของเราคือ อะไรแล้วก็ต้องมีความมั่นใจว่า เราทำในสิ่งนั้นบ่อยๆ จนเป็นนิสัย และสามารถพูดคุยให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานอดิเรกประเภทนั้นได้เป็นอย่างดี เช่น ถ้าตอบว่า
ชอบเล่นเทนนิส แต่ภายใน 1 ปี อาจไปเล่นเพียงครั้งเดียวหรือไม่ก็นานปีจะเล่นสักครั้งหนึ่ง อย่างนี้ไม่ควรจัดว่าเป็นงานอดิเรก เพราะระยะเวลา นานเกินไปไม่ได้ทำอย่างสม่ำเสมอ
อย่าลืมว่า ถ้าเราไม่สามารถพูดคุยหรือให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานอดิเรกประเภทที่เอ่ยถึงได้แล้ว จะทำให้เราเสียเครดิต ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้สัมภาษณ์ หมดความเชื่อถือในตัวเราเกือบทุกๆ เรื่องที่เราตอบไปแล้วก็ได้

6. เรื่องทั่วๆ ไป (General Topics)
ควรฝึกให้มีนิสัยรักการอ่านหนังสือพิมพ์ และติดตามความเคลื่อนไหวในเหตุการณ์รอบๆ ตัวเราโดยผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควร ติดตามความเคลื่อนไหว และกิจการของบริษัท หรือหน่วยงานที่เราต้องการสมัครเข้าเป็น พนักงานนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

7. สุขภาพ (Health)
ในเรื่องสุขภาพนี้ ก็คงไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากเพียงแต่ตอบไปตามความจริง และควรพิจารณา ดูว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไร เป็นอุปสรรคต่อ งานที่จะทำหรือเปล่า และงานนั้นระบุคุณสมบัติของผู้สมัคร ไว้อย่างไร เราย่อมรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว
ความจริงแล้ว เราไม่สามารถเดาใจผู้สัมภาษณ์ได้ 100% ว่าเขาจะถามเราอย่างไร เพราะเขามีสิทธิ์ เลือกถามได้ทั่วไป ผู้สมัครได้แต่เพียงเตรียมตัว ไว้ล่วงหน้าสำหรับคำถาม หลักเท่านั้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือผู้ สมัครไม่ควรแสดงอาการตื่นเต้นเมื่อเจอคำถามที่ไม่ได้ คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ควรอยู่ในอาการสงบ และตั้งใจ ตอบคำถามให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถ้าไม่เข้าใจคำถามก็อย่าพยายามดันทุรังตอบ ควรจะถามผู้สัมภาษณ์ตรงๆ หรือถามให้แน่ใจเสีย ก่อนอย่าเดาสุ่ม เพราะเขาอาจจะไม่ได้หมายถึง อย่างที่เราเดาไว้ก็ได้ เมื่อไม่เข้าใจก็ควรบอกผู้สัมภาษณ์ตาม ตรงว่า "ดิฉันไม่ค่อยเข้าใจความหมาย หรือ ดิฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าดิฉันจะเข้าใจคำถาม"

นอกจากเรื่อง การเตรียมตัวทางด้านคำถามคำตอบแล้วยังมีในเรื่อง
- การแต่งกาย
- การปรากฏกาย
- พฤติกรรมระหว่างการสัมภาษณ์
- พฤติกรรมหลังสัมภาษณ์ ฯลฯ

หวังว่าที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าคุณลองทำตามคำแนะนำเป็นข้อๆ ไป คุณจะรู้สึกว่าการหางานไม่ยากเหมือนคิดและโอกาสที่เขาจะรับคุณนั้นมีมากยิ่งขึ้น เพราะการสมัครงานของคุณได้ทำอย่างมีแผน และเตรียมความพร้อมในการสมัครงานไว้อย่างดี คุณจึงเป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการหางานนั่นเอง


แหล่งอ้างอิง : ลำดวน จาดใจดี, การสมัครงานและสอบสัมภาษณ์. กรุงเทพมหานคร : ห.จ.ก. ไทยเจริญการพิมพ์, 2539
ที่มา: http://www.jobthaiweb.com/articledetail.php?ID=00068