ช่วงนี้น้องๆปี 4 หรือปีสุดท้ายกำลังจะสำเร็จการศึกษากัน ก็เริ่มมองหาที่ทำงานที่แรก รวมไปถึงเราๆชาว First Jobber ที่ทำงานมาครบหนึ่งขวบปี บางคนก็อาจจะเริ่มมองหาที่ทำงานใหม่เพื่อขยับขยายโยกย้ายส่ายสะโพกบั้นท้ายไปสู่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ด่านที่เราต้องเจอแน่นอนและชี้เป็นชี้ตายตัวเราเลยว่าจะได้งานนั้นหรือไม่ก็คือ ‘การสัมภาษณ์งาน’ นั่นเอง การสัมภาษณ์งานนั้นนอกจากจะวัดดูทัศนคติของเราที่มีต่อเรื่องงานและเรื่องทั่วๆไปแล้ว ยังเป็นการทดสอบความ ‘คลิก’ กันของผู้สมัครและผู้สัมภาษณ์ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้านายของเรา) นั่นเอง
*บทความนี้เป็นการแปลจาก infographic จากเว็บ theundercoverrecruiter นะคะ
1. ช่วยเล่าอะไรเกี่ยวกับตัวเองหน่อยค่ะ
- พยายามลิมิตคำตอบให้เกี่ยวกับเรื่องการทำงาน อย่าพูดถึงเรื่องส่วนตัวมากถ้าเกิดเค้าไม่ได้ถาม
2. พูดถึงงานในฝันหน่อยสิ
- ถ้าเกิดเราตอบชัดเจนเลยว่าอยากทำตำแหน่งอะไร มี job des อะไรบ้าง คนสัมภาษณ์เค้าจะเริ่มสแกนเธอทันทีว่าเธอเหมาะกับตำแหน่งในฝันที่เธอพูดออกมาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นแนะนำว่าให้ตอบแบบคลีเช่ๆว่า งานในฝันคืออยากทำในที่ที่บรรยากาศเป็นมิตร รักใคร่กลมเกลียว สามัคคี นำประชาธิปไตย ไร้ยาเสพติด อะไรแบบนี้ดีกว่าค่ะ
3. ทำไมถึงลาออกจากงานเก่าล่ะ?
- พยายามตอบว่า ‘ออกมาเพื่อตามหาสิ่งที่ดีกว่า’ อะไรเทือกๆนั้นไป คืออย่าได้พูดเลยนะว่า ‘ออกเพราะเจ้านายเก่าที่นิสัยแย่มั่กๆ’
4. อะไรคือจุดอ่อนของคุณคะ?
- อย่าโพล่งนิสัยแปลกๆของคุณออกมาทันทีเลย พยายามหาจุดอ่อนที่แฝงความดีงามไว้ด้านในเช่น ‘เป็นคนต้องเตรียมตัวก่อนไปทำงานก็เลยจะต้องตั้งนาฬิกาปลุกไว้ล่วงหน้าสองชั่วโมง’ ไรเง้
5. จุดแข็งของคุณล่ะ?
- ยิ่งขายมาก ความต้องการก็จะยิ่งมากขึ้น เตรียมสถานการณ์ดูดีๆที่เคยเกิดขึ้นที่จะส่งเสริมจุดแข็งเหล่านั้นไปด้วยเผื่อเค้าถามหรือเราก็เล่าเองเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ
6. คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับงานที่เราทำ?
- ทำการบ้านให้มากที่สุด เจาะลึกทุกซอกมุมของเว็บไซต์บริษัทนั้น เพราะมันจะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดว่าบริษัทนี้ทำอะไร ถ้ามีคนรู้จักในบริษัทนี้ก็ลองพูดคุยกับเค้าดู เผื่อจะได้ข้อมูลอินไซด์อะไรเพิ่มเติมที่เอามาตอบได้
7. ทำไมเราถึงต้องจ้างคุณ?
- สำหรับข้อนี้ เราต้องตอบให้รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาของทั้งสองฝ่าย สื่อสารแบบกลางๆว่าคุณต้องการงานนี้พอๆกันกับที่บริษัทนี้ต้องการคุณ อย่าไปเปรียบเทียบตัวเราเองกับผู้สัมภาษณ์คนอื่นเชียวนะ
8. คุณคิดว่าคุณเป็นคนที่ประสบความสำเร็จไหม?
- ตอบไปเลยว่าใช่ ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะการประสบความสำเร็จไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกซะหน่อย เล่าให้เค้าฟังถึงความสำเร็จเจ๋งๆของคุณที่มีจนถึงช่วงที่สัมภาษณ์นั่นแหละ
9. ทำไมคุณถึงว่างงานเป็นเวลานานล่ะ?
- กลบเกลื่อนประเด็นนี้ด้วยการพูดถึงกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่เราทำในช่วงเวลาที่ตกงานเช่น ไปเข้าคอร์ส หรือเพิ่มพูนความรู้ด้วยวิธีต่างๆเช่น ทำฟรีแลนซ์หรือทำงานแบบเอาบุญไม่เอาเงินเป็นต้น หรือถ้าตอนนี้ตกงานอยู่ก็หาอะไรทำซะ เวลาไปสัมภาษณ์งานจะได้ไม่อ้ำอึ้งเวลาตอบนะจ๊ะ
10. เพื่อนร่วมงานของคุณพูดถึงคุณว่ายังไงบ้าง
- ก็เล่าไปตามนั้นแหละว่าเพื่อนที่ทำงานเธอเคยชมอะไรเธอไว้บ้าง ก็ดูๆไว้หน่อยนะคะว่าเราไม่ได้พูดเวอร์เกินไปงี้
11. คุณคิดว่าจะทำงานที่นี่ไปนานแค่ไหน
- เลี่ยงคำตอบที่จะกำหนดช่วงเวลาอย่างแน่นอนว่าคุณจะอยู่ที่นี่ไปนานแค่ไหน ลองตอบประมาณว่า ‘ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังพอใจที่จะรักกัน’
12. คุณคิดว่าคุณดีเกินไปสำหรับงานนี้หรือเปล่า
- พยายามโน้มน้าวเค้าให้ได้ว่าคุณเหมาะสำหรับงานนี้ อย่าแสดงความกังขาในความสามารถหรือเครดิตของเราตัวเราให้เค้ารู้สึกด้วยการพูดจาคลุมเครือ บอกไปเลยว่าเรานี่แหละมั่นใจแน่จริง
13. วิธีการบริหารจัดการของคุณเป็นอย่างไร
- สำคัญมากที่คุณจะต้องทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจถึงแนวทางการสื่อสารกับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานของคุณให้ได้ เล่าถึงวิธีที่คุณใช้นำทีมหรือทำงานร่วมกับทีมและในขณะเดียวกันทำให้คนอื่นสบายใจกับงานที่ทำเหมือนกัน
14. คุณทำงานเป็นทีมได้หรือเปล่า
- เป็นคำตอบบังคับเลยว่า ‘ใช่’ ‘แน่ซะยิ่งกว่าแช่แป้ง’ อะไรประมาณนี้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่คุณทำงานทันเดดไลน์ได้แบบเป็นกลุ่มดู
15. ปรัชญาในการทำงานของคุณล่ะ
- ไม่ต้องเวิ่นมาก บอกไปตรงๆ ง่ายๆเลยว่าสไตล์การทำงานหรือค่านิยมของคุณในที่ทำงานเป็นยังไงและสิ่งที่คุณสามารถนำมาสู่ทีมได้
16. ตำแหน่งที่คุณอยากจะทำเวลาทำงานเป็นทีมเพื่อทำโปรเจค
- เน้นย้ำไปเลยให้เค้ารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ยืดหยุ่นและไม่แคร์ที่จะต้องเป็นผู้ตามหรือผู้นำ
17. อะไรที่บ้างที่ทำให้คุณรำคาญเพื่อนร่วมงาน
- คือความรู้สึกมันเกิดจากการรับรู้ ก็บอกเค้าว่าเราโอเคกับเพื่อนร่วมงานทุกโดยการปรับตัวเข้ากับทุกคนโดยการรับมือทุกอย่างแบบชิลๆ
18. ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณจะทำงานนี้ได้ดี
- เน้นย้ำสกิลและประสบการณ์ที่ได้มาจากที่ทำงานเก่ากับการรับมือ crisis ทั้งหลายให้เค้ารู้สึกว่าเรานี่แหละคือคนที่เค้าตามหามานานแสนนาน
19. อะไรสำคัญกว่า เงินหรืองาน?
- ตอบไปว่าทั้งสองอย่างสำคัญพอๆกัน แต่อย่าตอบกว้างเกินไปหรือแคบไปว่าอันนึงสำคัญกว่าอีกอันนึง บอกไปว่า ชั้นก็มองหาความพอใจในงานเหมือนกันนะคะ
20. เจ้านายเก่าคุณคิดว่าข้อดีที่สุดของคุณคืออะไร
- พูดยกตัวอย่างสถานการณ์ในที่ทำงานเก่าให้เห็นภาพชัดขึ้น อย่าเวิ่นเป็นคำๆออกมา ถ้ามีพวกจดหมายที่เป็นคำชมหรือจดหมายแนะนำก็อวดให้เค้าดูเลยเพื่อความน่าเชื่อถือ
21. เล่าถึงการทำงานภายใต้ความกดดันหน่อย
- คำถามแบบนี้ต้องตอบอย่างระมัดระวังนะคะ แนะนำว่าให้ยกตัวอย่างที่คุณทำได้ดีภายใต้ความกดดัน ทำให้เค้ารู้สึกว่าความกดดันนี่แหละที่ทำให้คุณดึงพลังแฝงออกมาได้
22. คุณจะชดเชยความอ่อนประสบการณ์ของคุณด้วยอะไร
- เน้นยำสกิลความสามารถและความสำเร็จที่เราได้มาเพื่อให้เค้ารู้สึกมั่นใจที่จะจ้างเรา ลองยกตัวอย่างตำแหน่งหรืองานที่เคยทำสมัยเรียนเพื่อให้เค้าเห็นภาพมากยิ่งขึ้น
23. อะไรคือตัวกระตุ้นที่ทำให้คุณทำงานให้ดีที่สุดได้
- ห้ามมมมมมมตอบว่า ‘เงินเดือน’ โดยเด็ดขาด พูดถึงเรื่องดีๆเช่น บรรยากาศที่ทำงาน ระเบียบวินัย หรือความสมบูรณ์แบบเป็นต้น
24. คุณจะรู้สึกว่าคุณประสบความสำเร็จในงานนี้เมื่อใด
- ลองตอบว่า ‘เมื่อผม/ดิฉันทำได้ตามเป้าหมายทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพและสามารถไปได้ไกลกว่านั้นได้’ สวยเว่อค่ะ
25. คุณจะให้ความสนใจต่อประโยชน์ขององค์กรมากกว่าของส่วนตนหรือไม่
- อีกข้อที่ต้องตอบว่า ใช่ และ แน่ซะยิ่งกว่าแช่แป้ง คำถามนี้จะเป็นการทดสอบเราว่าเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริษัทได้มากแค่ไหนและเราจะจริงจังแค่ไหนในการทำตามเป้าหมายขององค์กรของเรา
26. คุณสมบัติใดบ้างที่คุณมองหาในเจ้านายของคุณ
- ไม่ต้องลงรายละเอียดมากจนถึงว่า ต้องเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยอย่างไรหรือต้องกินอะไร นอนกี่โมง คือแค่บอกไปง่ายๆสั้นๆว่า เป็นคนรอบรู้ ยุติธรรม ให้กำลังใจ และหล่อ (อันนี้ไม่ใช่ละ)
27. คุณคิดภาพตัวคุณในอีกห้าปีว่าอย่างไร
- ตอบอย่างคนมีวิสัยทัศน์และถ้าเข้า objective line ของเรซูเม่ที่เราเขียนไปก็จะดีมาก (objective line คือพาร์ทหนึ่งของเรซูเม่ (ประมาณสองสามประโยค) ที่บ่งบอกตัวคุณว่าคุณเป็นคนอย่างไรและมีจุดมุ่งหมายในการทำงาน ผู้จ้างงานจะดูตรงนี้เป็นพิเศษว่าเป้าหมายของคุณสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรหรือไม่ – ผู้แปล)
28. คุณเรียนรู้อะไรจากการผิดพลาดครั้งเก่าๆบ้าง
- อย่าเปิดเผยทุกเรื่องโบ๊ะๆเฉิ่มๆที่เคยเกิดขึ้นมา เล่าความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นแล้วตามต่อด้วยบทเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงคนที่มีการเรียนรู้ 5555
29. ถ้าคุณกำลังจ้างคนมาเพื่อตำแหน่งนี้ คุณจะมองหาอะไรในตัวเค้าบ้าง
- ตอบคำถามนี้ด้วยการตอบ job des ที่มีอยู่ใน skill set ของคุณด้วยก็จะดี เอาคำตอบที่เข้ากับงานแล้วก็อย่าให้มันเวอร์เกินไปละกัน
30. อะไรคือความคาดหวังของคุณกับที่นี่?
- บอกไปว่าคุณก็อยากมีอิสรภาพแบบเบาๆมากกว่าที่จะต้องถูกบังคับให้ทำอะไรที่เล็กๆน้อยๆตลอดเวลา ความชัดเจนในงานที่ได้รับมอบหมายก็น่าเอาไปตอบเหมือนกันนะ
31. มีคำถามอะไรจะถามดั๊นมั้ยฮะ
- ทำการบ้านมาดีๆว่าอยากถามอะไรคนที่สัมภาษณ์ ชัดเจนในการทำความเข้าใจกับคำตอบของเค้าให้ดีนะ
32. ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณจะประสบความสำเร็จในงานนี้
- Intersect ความเหมือนของ job requirement และสกิลที่คุณมี ก็จะเป็นคำตอบที่โอเคนะค๊า
33. คุณคิดยังไงกับที่ทำงานเก่าบ้าง?
- ถึงแม้ว่าคำถามข้อนี้จะล่อเป้าให้เราแฉที่ทำงานเก่ามาก แต่อยากให้เลี่ยงด้วยการตอบว่า ที่เก่าก็เปรียบเสมือนสถานที่ที่ทำให้คุณเติบโตและทำให้คุณเป็นคุณในวันนี้ได้ ไม่ต้องไปลงรายละเอียดของที่ทำงานเก่ามากนะคะเพราะมัน confidential เน้อ เค้าอาจจะเป็นคู่แข่งกันก็ได้
34. คุณรับมือกับคำวิจารณ์อย่างไร
- ตอบไปว่าการได้รับคำวิจารณ์คือวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาตัวเอง บอกว่าคุณไม่เคยถือคำวิจารณ์เป็นเรื่องส่วนตัวและเข้าใจเจตนาของการปฏิบัติที่รุนแรงบ้าง หลังจากนั้นก็ยกตัวอย่างที่คุณขยับไปอีกขั้นหนึ่งของความสวดยวดหลังจากได้รับคำวิจารณ์มาเพื่อโชว์เมพซะ คริๆ
35. คุณมีกิจกรรมหรือความสนใจนอกเหนือจากงานมั้ย?
- เล่าไปแบบชิลๆว่าคุณใช้เวลาว่างไปกับอะไรบ้าง เช่นงานอดิเรกของคุณ พยายามโยงๆงานอดิเรกของคุณไปสู่การเพิ่มพูนสกิลให้กับตัวเองสักเล็กน้อยแต่พองาม
เห็นอย่างนี้แล้วสุดท้ายก็อย่างที่บอกจริงๆค่ะว่าเราคลิกกับผู้สัมภาษณ์เรามากแค่ไหน พยายามอย่าขายตัวเองให้มากเกินไป อ่อนน้อมถ่อมตน แต่ไม่ใช่ว่าหงอ เค้าอยากได้คนมั่นใจ ไม่ใช่คนขี้อวด ทุกอย่างคือเรื่องของความพอดี ขอให้ทุกคนโชคดีนะคะ จุ๊บๆ
credit:http://fjsk.in.th/