1. ก่อนสมัครงานที่ใดควรศึกษาคำบรรยายลักษณะงานของตำแหน่งนั้นๆรวมถึงประวัติความเป็นมาขององค์กรโดยละเอียด เลือกสมัครเฉพาะงานที่คุณสนใจ และเหมาะสม ตรงกับความสามารถ หรือเป็นพื้นที่ที่สะดวกต่อการเดินทางไปปฏิบัติงานได้
2. การเขียนจดหมายสมัครงานก็เป็นสิ่งจำเป็น กรณีที่ไม่ได้กรอกใบสมัครโดยตรงตามแบบฟอร์มของทางบริษัท อย่างไรตามความสำคัญของจดหมายสมัครงานนั้นอยู่ที่ ความกระชับในเนื้อหา แต่ได้ใจความสำคัญครบถ้วน และเป็นเรื่องราวที่แตกต่างจากที่ระบุอยู่แล้วในประวัติส่วนตัว และควรใช้ข้อความที่เน้นย้ำจุดเด่นและความเหมาะสมกับงานนั้นๆของคุณ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการสัมภาษณ์
3. หมั่นปรับปรุงข้อมูลประวัติส่วนตัวของคุณอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ในการติดต่อ ประวัติส่วนตัวที่มีข้อมูลครบถ้วน พอเพียงและเป็นปัจจุบัน จะช่วยให้ผู้คัดเลือกประเมินความเหมาะสมของคุณกับงานนั้นๆได้อย่างแม่นยำ และเป็นประโยชน์กับตัวผู้สมัครมากที่สุด
4. การกรอกข้อมูลในใบสมัครงานด้วยลายมือที่อ่านง่าย ไม่ขูดลบขีดฆ่า การตอบคำถามแต่ละข้อในใบสมัครต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะมีผลมากต่อการได้รับคัดเลือกหรือไม่ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามเจ้าหน้าที่ทันที อย่าใช้การเดาสุ่ม หรือตอบข้อมูลในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องลงไป เพราะนายจ้างจะประเมินคุณเบื้องต้นจากการกรอกใบสมัครด้วย
5. โดยทั่วไปสิ่งแรกที่ฝ่ายบุคคลที่พิจารณาใบสมัครของคุณจะดูคือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในตำแหน่งงานนั้นๆ ซึ่งเมื่อเรายังไม่เคยทำงาน สิ่งที่จะชดเชยในส่วนนี้ได้ดี คือ ประสบการณ์จากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การฝึกอบรม การทำงานชั่วคราวระหว่างเรียน การดูงาน การร่วมโครงการพิเศษต่างๆ รวมถึงโครงงานชิ้นสำคัญที่เคยทำก่อนสำเร็จการศึกษา
6. คุณอาจติดตามผลการสมัครงานหลังจากสมัครไปแล้วประมาณ 1 เดือน หากยังไม่ได้รับการติดต่อ ก็อาจโทรสอบถามความคืบหน้าไปยังฝ่ายบุคคลขององค์กรนั้นๆได้ โดยโทรไปเป็นลักษณะการแนะนำคุณสมบัติของตัวเองและสอบถามถึงโอกาสในการได้เข้ารับการสัมภาษณ์ อาจติดตามเป็นระยะเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง เพราะหากติดต่อไปถี่เกินไปอาจสร้างความรำคาญและเป็นการรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้
7. ค้นหาจุดเด่น หรือจุดแข็งของตัวเองให้พบ เลือกนำเสนอให้ตรงกับงานที่สมัคร เช่น งานด้านการบริการและการขาย ย่อมต้องการคนที่มนุษยสัมพันธ์ดี ชอบการพบปะผู้คน มีความอดทน งานด้านบัญชี ต้องการคนที่ละเอียดรอบคอบ เป็นต้น
8. แสดงความสุภาพ และความเป็นมืออาชีพในการควบคุมอารมณ์ สีหน้า น้ำเสียงตลอดเวลาที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่หรือผู้แทนของทุกๆองค์กรที่คุณไปติดต่อด้วย
9. นอกจากเรื่องคุณสมบัติต่างๆแล้ว เรื่องการใช้ชีวิตในสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญ องค์กรจำนวนมากต้องการพนักงานที่ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดี มีจิตอาสา หรือจิตสำนึกสาธารณะ การบอกเล่าถึงเรื่องราวการเข้าค่ายอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ หรือการใช้เวลาว่างของคุณให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ก็จะเพิ่มความน่าสนใจในตัวคุณได้มาก
10. เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ตามคำแนะนำทั้งหมดแล้ว ต้องกลับมาทบทวน หรือมองในมุมกลับกับว่า หากคุณมีหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครในตำแหน่งนั้นๆ และต้องประเมินว่าจะรับคนที่มีคุณลักษณะ และการนำเสนอตัวเองในแบบที่คุณทำ หรือไม่ เพื่อให้ได้ประเด็นมาดำเนินการปรับปรุงตัวเองอย่างต่อเนื่องต่อไป
credit:
http://jobmarket.co.th/mustKnow/content_detail.php?dd=2034