1. ทำไมคุณจึงอยากทำงานที่นี่
การที่จะทำงานทีไหนก็ตาม ผู้สัมภาษณ์จะต้องถามความเป็นมาว่าทำไมคุณต้องการที่จะทำงานในบริษัทของเค้า และคำถามนี้ก็เป็น สิ่งที่คุณควรทราบ และคุณก็ควรจะรู้ถึงเหตุผลของคุณอย่างแท้จริง ไม่ไช่ตอบไปสุ่มสี่สุ่มห้า เช่นคุณอาจจะตอบว่า "ดิฉันมีความสนใจในระบบการทำงานของที่นี่มาก และก็ทราบมาว่าทางบริษัทได้เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ค่ะ และดิฉันยังทราบมาอีกว่า ที่บริษัทรับฟังข้อเสนอของพนักงานทุกคน และพร้อมจะแก้ไขถ้าข้อเสนอนั้นจะสามารถพัฒนาให้บริษัทให้มีความมั่นคง และน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นค่ะ"
2. ทำไมคุณคิดว่าคุณจะรู้สึกพอใจ เมื่อได้ทำงานในตำแหน่งนี้
ควรตอบว่าเป็นงานที่มีความก้าวหน้า เป็นงานที่ทำได้ทำในสิ่งที่เรียนมา เป็นงานที่ชอบมานาน กิจการดีมีความมั่นคง ได้ยินว่ากิจการมีชื่อเสียงที่สุดด้านนี้หรืออยากทำงานในกิจการเล็ก ๆ ที่อบอุ่น มีโอกาสเรียนรู้งานได้มาก
3. เคยมีประสบการณ์งานด้านนี้หรือไม่
มีหรือไม่มีประสบการณ์ก็ให้ตอบตามความเป็นจริง หากผู้สมัครงานเคยมีประสบการณ์มาก่อนก็จะเป็นประโยชน์กับตัวผู้สมัครงานเอง หากไม่มีก็ควรบอกว่ามีประสบการณ์อื่นที่ใกล้เคียงหรือเคยฝึกงานมา หรือเคยทำงานแบบนี้กรณีไม่มีประสบการณ์ใด ๆ เลยก็ควรบอก ไปตรง ๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้เพราะมีใจชอบงานลักษณะนี้
4. ใช้คอมพิวเตอร์ หรือพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้หรือไม่
ทำได้หรือไม่ควรตอบไปตามความจริง หากไม่ได้ควรตอบว่ากำลังจะไปเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะรู้ว่าจำเป็นและมีประโยชน์ในการทำงานมาก
5. ทำไมจึงออกจากงานเดิมที่ทำอยู่ หรือทำไมจึงคิดเปลี่ยนงาน
ไม่ควรตำหนิที่ทำงานเดิม แม้จะทราบว่าที่ทำงานเดิมเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่ทำงานใหม่ที่กำลังสมัครงาน เพราะจะถูกมองในแง่ลบ ควรตอบว่าไม่ชอบบรรยากาศหรือวิธีการทำงานแบบธุรกิจหรืออะไรที่กว้าง ๆ และเน้นว่าคิดว่าที่ทำงานใหม่จะให้โอกาสและประสบการณ์ที่ดีกว่า หรือต้องทำงานที่ท้าทายกว่า
6. สิ่งที่เรียนมาไม่ตรงกับงานที่ทำ และจะทำงานได้อย่างไร
ควรยอมรับความจริงว่าใช่ ไม่ตรงจริง ๆ แต่ผู้สมัครงานมีความสนใจในงานลักษณะนี้มากกว่างานที่ตรงกับความรู้ที่เรียนมาจริง ๆ
7. ต้องการเงินเดือนเท่าไร
ไม่ควรตอบว่าไม่รู้ แต่ควรตอบว่าไม่ต่ำกว่าเท่าไร โดยสอบถามอัตราเงินเดือนของพนักงานระดับนี้ จากคนรู้จักหรือกิจการใกล้เคียงหรือเพื่อนฝูง ผู้สมัครงานควรต้องรู้ว่าตัวเองต้องได้เงินเดือนเท่าไรจึงจะสามารถดำรงชีพได้และมีเงินเหลือเก็บบ้าง หากไม่รู้จริง ๆ ว่าตนเองต้องการเงินเดือนเท่าไรจึงจะเหมาะสม ควรตอบว่าแต่แล้วบริษัทจะเห็นสมควรขอให้ดูความสามารถก่อน จะพยายามทำงานอย่างเต็มความสามารถ
8. ลองเล่าประวัติของคุณแบบย่อ ๆ
การที่จะทำงานร่วมกันได้นั้น สิ่งที่สำคัญก็จะเป็นเรี่องข้อมูลส่วนตัว ประวัติ ความเป็นมา เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถบ่งบอกถึงนิสัยใจคอของคุณได้ และสามารถบอกถึงความเหมาะสมกับงานด้านนี้ของคุณ ในการตอบคำถามจึงควรอยู่ในแง่ของการทำงาน บุคลิกภาพส่วนตัว และแง่คิดของชีวิตบ้างนิดหน่อย คุณไม่ควรจะเล่าประวัติชีวิตของคุณให้มากเกินไป เพราะการพูดมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดผลเสียแก่ตัวคุณเอง เช่น " ผมเป็นคนเคารพเวลา ไม่ชอบให้ใครรอ เพราะฉะนั้นเวลาในการทำงานของผม จะตรงต่อเวลาเสมอ แต่ผมก็มีข้อเสียนะครับ คือเวลาที่ผมรอใครแล้วคนคนนั้นไม่มาสักทีผมก็มักจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ค่อยได้ทั้ง ๆ ที่เหตุผลของเค้าเป็นเหตุผลที่น่าฟังมากก็ตามและตอนนี้ผมกำลังหาวิธีเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผมอยู่ครับ"
9. คุณคิดจะทำอะไรให้กับบริษัทมากที่สุด
คำถามนี้จะทำให้คุณบอกถึงความสามารถของคุณที่จะทำให้กับบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน ในการบอกถึงคุณสมบัติที่คุณสามารถทำได้นั้น ไม่ถือว่าเป็นการโอ้อวดว่าคุณเก่งแต่อย่างไร แต่สิ่งที่คุณพูดนั้นจะสามารถสร้างน้ำหนักในการตอบคำถามให้แก่คุณได้
10. อยากจะถามอะไรเกี่ยวกับบริษัทบ้างไหม ไม่ควรตอบว่าไม่มี
แต่ควรถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบในงานที่ผู้สมัครงานต้องทำหรือถามเกี่ยวกับบริษัท ให้เห็นว่าผู้สมัครงานมีความสนใจในกิจการของบริษัท หรือถามเกี่ยวกับสวัสดิการ โครงการฝึกอบรมของบริษัท เพื่อให้เห็นว่าผู้สมัครงานมีความต้องการ มีจุดประสงค์ใดบ้างในอนาคต
กรณีไม่เข้าใจคำถาม ควรบอกผู้สัมภาษณ์ไปตรง ๆ ให้ถามคำถามใหม่อีกครั้ง และหลังจาการสัมภาษณ์แล้ว ควรมีการติดตามข่าวว่าได้งานหรือไม่ แม้บริษัทจะบอกว่าจะติดต่อกลับมาเอง เพื่อแสดงความสนใจจริงที่ต้องการจะทำงานบริษัทนั้น ๆ
ที่มา:
http://www.stjohn.ac.th/University/Guidance/10-kum-tam.htm