ผู้เขียน หัวข้อ: ไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออกภัยร้ายใกล้ตัว ป้องกันก่อนจะสาย  (อ่าน 2765 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ motherhood

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
  • พอยท์: 100
    • ดูรายละเอียด
ไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออกภัยร้ายใกล้ตัว ป้องกันก่อนจะสาย


“ไข้เลือดออก” เป็นโรคที่เกิดการระบาดในไทยเกือบตลอดทั้งปี แต่จะกระจายตัวมากในช่วงหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงที่ยุงเริ่มวางไข่ หากลูกรักเกิดป่วยเป็นไข้เลือดออกขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่คงวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะเคยได้ยินมาว่าไข้เลือดออกทำให้เสียชีวิตได้ ฟังดูน่าเครียดน่ากลัว แต่การได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่แรกที่มีอาการ ก็จะสามารถบรรเทาให้พ้นระยะอันตรายได้

ทำความรู้จักโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrahgic Fever หรือ Dengue Shock Syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี่-1, เดงกี่-2, เดงกี่-3 และ เดงกี่-4 สามารถแพร่พันธุ์ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ ซี่งในภาวะโลกร้อนเช่นนี้ยุงแต่ละชนิดยิ่งสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้น

ไข้เลือดออกมีกี่ระยะ
เราสามารถแบ่งระยะของโรคไข้เลือดออกได้ตามอาการของโรค ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะไข้สูง เมื่อเริ่มเป็นจะมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส อยู่ 2-7 วัน หน้าจะแดง มีอาการซึม ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ และเบื่ออาหาร บางคนอาจมีจุดเลือดสีแดงๆขึ้นตามลำตัว แขน และขา
- ระยะวิกฤต จะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 3-6 เนื่องจากป่วยมาแล้วหลายวัน จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวมากกว่าเดิม บางรายอาจจะปวดท้อง ท้องอืด ยังคงเบื่ออาหาร บางรายมือและเท้าอาจเริ่มเย็นลง ร่วมกับไข้ที่ลดลง คุณพ่อคุณแม่อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าลูกหายไข้แล้ว ทั้งที่จริงกำลังเข้าสู่ระยะช็อกที่รุนแรง และอาจเกิดตามมาในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง
- ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลดโดยไม่มีอาการช็อก เกล็ดเลือดจะเริ่มสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตกลับเข้าสู่ระดับปกติ อาการปวดท้อง ท้องอืดจะดีขึ้น และความอยากอาหารเริ่มกลับมา

หากลูกมีอาการเหล่านี้ … รีบพาไปพบแพทย์
- มีอาการแย่แม้ไข้จะลดลง หรือไข้ลดลงแต่ยังมีอาการเพลีย
- เลือดออกผิดปกติ
- อาเจียนมาก
- ปวดท้องมาก
- ซึม ไม่ดื่มน้ำ
- เด็กเล็กจะร้องกวนมาก กระสับกระส่าย โวยวาย อยู่ไม่นิ่ง
- มีอาการเพ้อ ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย

ช่วยกันป้องกันไข้เลือดออก
โดยทั่วไปเราเริ่มต้นด้วยการป้องกันไม่ให้ยุงมากัดลูก หาผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงมาใช้กับทุกคนในครอบครัวในเวลาที่ต้องออกไปยังบริเวณสุ่มเสี่ยงหรือมียุงชุม สำหรับลูกน้อยที่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงประเภททาได้หรือไม่ ก็สามารถใช้สติกเกอร์กันยุงได้เช่นกัน แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน เราต้องกำจัดการเพาะพันธุ์ยุงลายจากต้นตอเพื่อป้องกันไม่ให้บ้านหรือชุมชนมียุง การกำจัดยุงลายมีวิธีง่ายๆ ดังนี้
- กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- ทำลายภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้แล้วหรือใส่ทรายอะเบท
- ส่วนที่ยังใช้อยู่ก็ต้องปิดฝาให้ดี อย่าให้ยุงลงไปวางไข่
- ใส่น้ำส้มสายชู น้ำเกลือ ผงซักฟอก ลงในชามที่เอาไว้รองขาตู้กับข้าว เพื่อกันไม่ให้ยุงมาวางไข่

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีมั้ย?
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนั้นสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป ถึงไม่เกิน 45 ปี และสามารถป้องได้กับไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ 1-4 เท่านั้น โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม แต่ยังไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อยเปอร์เซนต์ ทำได้แค่ลดความรุนแรงของโรคลงบ้าง
ในช่วงฤดูฝนที่ยุงลายกำลังระบาดแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจหากพบว่าลูกมีอาการไข้ ควรพาเขามาพบหมอตั้งแต่เนิ่นๆที่มีอาการ เพื่อรับการตรวจอย่างถูกต้อง หากพบว่าเป็นไข้เลือดออกก็จะได้รีบรักษา เชื้อจะได้ไม่พัฒนาจนเข้าสู่ระยะวิกฤต

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
อาทิ โรคมือเท้าปากเปื่อย และ Bully การกลั่นแกล้งที่ผู้ใหญ่ควรตระหนัก เป็นต้น