เผลอแป๊บเดียวก็ถึงช่วงเวลาของประเพณีสงกรานต์กันอีกแล้วนะครับ หลายๆ คนคงตั้งตารอที่จะได้ไปหยุดพักผ่อน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ในขณะที่หลายๆ คนอาจจะรอคอยการออกไปสาดน้ำคลายร้อนให้สนุกกันเต็มที่ แต่ก่อนที่จะออกไปเผชิญกับน้ำอันเย็นชื่นใจ วันนี้เราลองมาดูเทคนิคในการแก้ปัญหาเผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์กันหน่อยดีกว่าครับ ใช่แล้วครับ เหตุการณ์ที่ว่าก็คือ “โทรศัพท์เปียกน้ำ”นั่นเอง
โทรศัพท์เปียกน้ำเป็นเหตุการณ์ที่สุดสยองสำหรับทุกคน และเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้มีวิธีแก้ที่สามารถจะรับรองได้ว่าโทรศัพท์จะกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ 100% แต่ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นทางออกเบื้องต้นที่”น่าจะ”พอช่วยได้บ้าง ลองมาดูกันครับ
1. อย่ากดปุ่มใดๆ ทั้งสิ้น! อย่าลืมว่าโทรศัพท์เรามีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ข้างในตัวเครื่อง และการกดปุ่มโดยมากมักจะเป็นการสั่งการให้วงจรภายในตัวเครื่องปล่อยกระแสไฟฟ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นการกดปุ่มใดๆ จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเครื่องมากขึ้นไปอีก
2. หากคุณมีผ้าแห้งๆ ติดตัวอยู่บ้าง ให้ซับโดยด่วน หากไม่มีจริงๆ อย่างน้อยๆ ก็ให้รีบบิดชายเสื้อของคุณให้แห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วทำการซับน้ำบนตัวเครื่องให้แห้งที่สุด
3. เมื่อไม่เหลือหยดน้ำแล้ว ให้รีบถอดชิ้นส่วนที่ถอดได้ออกให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะแบตเตอรี่ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจจะทำให้ไฟฟ้าช็อตแผงวงจรข้างในได้ จากนั้นเพื่อความแน่ใจ อย่าลืมถอดซิมการ์ดและการ์ดความจำ (SD Card) ออกด้วยเช่นกัน
4. อย่าใช้เครื่องเป่าผมที่ปล่อยลมร้อนมาเป่าให้ตัวเครื่องแห้ง หรือเอาเครื่องไปตากกลางแดดจ้า เพราะความร้อนอาจจะทำให้แผงวงจรเสียหายได้ ถ้าจะใช้ลมเป่าควรเป็นลมอุณหภูมิห้อง หรือใช้พัดลมเป่าทิ้งไว้เบาๆ จนกระทั่งตัวเครื่องแห้งสนิท
5. เอาตัวเครื่องและแบตเตอรี่ไปแช่ในข้าวสารแห้งหรือถุงดูดความชื้นประมาณ 2 วัน โดยข้าวสารแห้งจะเป็นตัวช่วยดูดความชื้นที่ค้างอยู่ในตัวเครื่องออกให้อย่างหมดจด
6. เมื่อตัวเครื่องและชิ้นส่วนต่างๆ แห้งสนิทแล้ว ให้ทดลองประกอบตัวเครื่องและเปิดเครื่องเพื่อตรวจสอบดูว่าสามารถทำงานได้หรือไม่ หลายๆ คนมักจะทดลองกดปุ่มต่างๆ ดูด้วยว่าการทำงานปกติดีหรือไม่ ซึ่งถ้าคุณโชคดี ตัวเครื่องก็อาจจะใช้งานต่อได้อย่างไม่มีปัญหา
7. อย่างไรก็ดี หากตัวเครื่องมีอาการบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ลำโพงไม่มีเสียง บางปุ่มกดไม่ได้ ฯลฯ คุณควรนำตัวเครื่องไปส่งให้ช่างที่เชี่ยวชาญที่ศูนย์บริการช่วยตรวจสอบและซ่อมให้ ซึ่งข้อนี้ต้องย้ำกับคุณผู้อ่านว่า กรณีเครื่องมีปัญหาจากการตกน้ำหรือมีน้ำเข้าไปในตัวเครื่องนั้นไม่อยู่ภายใต้การประกัน ดังนั้นหากมีค่าใช้จ่ายในการซ่อม คุณผู้อ่านต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้เอง
หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้แนวทางดีๆ ไว้ใช้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ขึ้นกันนะครับ อย่างไรแล้วเพื่อความปลอดภัย อย่าลืมหาซองกันน้ำมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์โทรศัพท์เปียกก็จะดีกว่านะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.samsung.com/th/article/smartphone-wet/