(1) คอมเพรสเซอร์ (Compressor) หน้าที่ของคอมเพรสเซอร์คือ ดูดสารทำความเย็นที่เป็นก๊าซในอีวาพอเรเตอร์ และรักษาความดันต่ำไว้ และอัดสารทำความเย็นที่เป็นก๊าซให้มีความดันสูง เพื่อให้สารทำความเย็นที่เป็นก๊าซสามารถกลั่นตัวเป็นสารทำความเย็นเหลวที่อุณหภูมิปกติ คอมเพรสเวอร์มีหลายแบบด้วยกันขึ้นอยู่กับโครงสร้าง
(2) คอนเดนเซอร์ (Condenser) ทำหน้าที่ส่งความร้อนจากก๊าซของสารทำความเย็นที่ถูกอัดให้มีอุณหภูมิสูงไปยังตัวสื่อที่ใช้ระบายความร้อน ในการลดความร้อนนี้ สารทำความเย็นจะเปลี่ยนสถานะจากก๊าซกลับเป็นสารทำความเย็นเหลว ความร้อนที่สลัดออกไปทิ้งที่คอนเดนเซอร์นี้ จะเท่ากับปริมาณความร้อนที่ดูดออกจากในห้องด้วยการระเหย (เดือด) ของสารทำความเย็นรวมกับงานที่ให้กับคอมเพรสเซอร์
(3) อีวาพอเรเตอร์ (Evaporator) อีวาพอเรเตอร์ทำหน้าที่ให้สารทำความเย็นเหลวระเหยที่ความดันต่ำ เดือดและดูดความร้อนทั้งหมดเพื่อทำให้ได้ความเย็น ชนิดของอีวาพอเรเตอร์ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับชนิดของสารทำความเย็น อีวาพอเรเตอร์แบ่งหยาบ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้สำหรับระบบปรับอากาศและกลุ่มที่ใช้ทำความเย็น
(4) อุปกรณ์ลดความดัน (Pressure Reducing Device) อุปกรณ์ลดความดันเป็นอุปกรณ์อันหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการทำความเย็น ทำหน้าที่ให้สารทำความเย็นไหลเข้าไปฉีดขยายตัวและควบคุมการไหลของสารทำความเย็นไปยังอีวาพอเรเตอร์ในปริมาณพอเหมาะกับขนาดของระบบการทำความเย็นนั้น ๆ ความหมายของ Throtting คือ ทำหน้าที่ให้สารทำความเย็นไหลผ่านที่แคบ ๆ ในระยะเวลาอันสั้นและขยายตัว ที่ช่วงนี้จะไม่มีการถ่ายเทความร้อนหรืองานจากภายนอกเลย ชุดลดคามดันนี้มี 2 แบบด้วยกันคือท่อแคพพิลารี่ (Capillary Tube) และเอ็กสแปนชั่นวาล์ว (Expansion Valve)
(5) ชุดกรองและดูดความชื้น (Strainer and Drier) ชุดกรองและดูดความชื้นนี้ ปกติจะติดตั้งอยู่ระหว่างคอนเดนเซอร์กับท่อแคพพิลารี่หรือเทอร์ดมสแตติคเอ็กสแปนชั่นวาล์ว ทำหน้าที่กรองผงสกปรกและดูดความชื้น เนื่องจากฝุ่นละอองที่เข้าไปในอุปกรณ์ของระบบขณะทำการประกอบ สำหรับความชื้นจะมาแข็งตัวที่ทางออกที่มีอุณหภูมิต่ำของท่อแคพพิลารี่หรือเทอร์โมสแตติคเอ็กสแปนชั่นวาล์ว และทำให้สารทำความเย็นไหลฝืดได้ในตอนต้นและอุดตันในตอนหลัง นอกจากนั้นยังเป็นตัวทำลายฉนวนไฟฟ้า สำหรับฝุ่นละอองที่เข้าไปในระบบก็จะปิดกั้นการไหลของสารทำความเย็นเช่นกัน
(6) พัดลม (Fans) พัดลมใช้ในเครื่องถ่ายเทความร้อนที่อีวาพอเรเตอร์และที่คอนเดนเซอร์ พัดลมแบ่งออกได้หลายแบบแล้วแต่ลักษณะของการใช้งาน
ที่มา:
http://www.thaiaircare.com/article/1267/